สธ.ลงนามร่วม 13 หน่วยงาน เดินหน้าเร่งรัดฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก หญิงอายุ 11 - 20 ปี 1 ล้านเข็ม ภายใน 100 วัน แบ่งฉีด 2 กลุ่ม กลุ่มนักเรียนฉีดที่โรงเรียน เริ่ม พ.ย.นี้ คิกออฟ 8 พ.ย. ส่วนนอกระบบการศึกษาฉีดสถานพยาบาล กลุ่มโรงงานแจ้งให้ช่วยฉีดได้ เริ่ม ธ.ค.-ม.ค. มีวัคซีนแล้ว 1.2 ล้านโดส พร้อมคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 30-60 ปี ช่วยป้องกันครบวงจร
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2566 และเป็นประธานพิธีลงนามประกาศความร่วมมือขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจร และรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV 1 ล้านเข็มใน 100 วัน สำหรับผู้หญิงอายุ 11- 20 ปี ภายใต้แนวคิด “รู้เท่าทัน ป้องกันได้ ตรวจพบรักษาไว ปลอดภัยจากมะเร็ง” ว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก แต่ละปีประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 1 แสนราย และเสียชีวิตกว่า 8 หมื่นราย มะเร็งที่พบมากได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งปี 2567 สธ.มีนโยบายยกระกับ 30 บาทอัปเกรด แก้ไขปัญหามะเร็งครบวงจร ครอบคลุมด้านการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง วินิจฉัย และรักษา มีการจัดตั้ง Cancer Warrior ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่งเสริมความรอบรู้ด้านโรคมะเร็งแก่ผู้ป่วยและประชาชน สนับสนุนรณรงค์ฉีดวัคซีน HPV ซึ่งเป็นมะเร็งไม่กี่ชนิดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน มีประสิทธิภาพป้องกันในผู้ที่ยังไม่พบการติดเชื้อสูงร้อยละ 93-95 ส่งผลให้ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกใน 10-20 ปีข้างหน้าได้ และดำเนินการร่วมคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผู้หญิงอายุ 30-60 ปี จะช่วยให้สตรีไทยปลอดภัยจากมะเร็งปากมดลูกอย่างครบวงจร
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายฉีดวัคซีน HPV 2 เข็ม เป็นสิทธิประโยชน์เด็กนร.หญิงชั้น ป.5 แต่ช่วงปี 2562 เกิดสถานการณ์วัคซีน HPV ขาดแคลนทั่วโลก ทำให้เราไม่สามารถจัดหาวัคซีนได้ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ต่อมาสามารถจัดหาวัคซีนได้อีกครั้งแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สธ.จึงกำหนดนโยบายควิกวิน กำหนดให้มีการฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา 1 ล้านโดส ใน 100 วัน ขอให้กลุ่มเป้าหมายเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน ลดการป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในอนาคต เนื่องจากมะเร็งปากมดลูก พบเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี ในปี 2563 พบผู้ป่วยรายใหม่ 9 พันราย และเสียชีวิตประมาณ 4,700 ราย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายเร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ในผู้หญิงอายุ 11 - 20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยกำหนดเป้าหมายการฉีด 1 ล้านเข็ม ภายใน 100 วัน
"ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ได้รับทราบความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ตามนโยบายเร่งรัด 100 วัน ซึ่งวันนี้มีการลงนามประกาศความร่วมมือฯ ระหว่าง สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน สภากาชาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค การดำเนินงานจะแบ่งเป็นนักเรียนหญิงชั้นประถมปีที่ 5 ถึงอุดมศึกษาปีที่ 2 รวมถึงหญิงอายุ 11-20 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยนักเรียนในสถานศึกษาจะฉีดในวันที่ 1-30 พ.ย. 2566 ทำการคิกออฟวันที่ 8 พ.ย. ที่โรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี และทุกเขตสุขภาพอย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง พร้อมกัน ส่วนผู้หญิงอายุ 18-20 ปี จะดำเนินการช่วง ธ.ค. 2566 - ม.ค. 2567" นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามถึงการความสามารถในการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดสใน 100 วัน เท่ากับฉีดวันละ 1 หมื่นโดส จะต้องวางระบบรองรับอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามีศักยภาพในการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งรองรับการฉีดวัคซีน ดังนั้นวันละ 1 หมื่นโดสจะเป็นตัวเลขที่เราทำได้
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การฉีดวัคซีน HPV จะมี 2 แบบคือในโรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งจะให้เด็กในระบบการศึกษาเข้ามารับวัคซีน ส่วนผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษา ก็จะให้เข้ารับวัคซีนในสถานพยาบาล หรือสถานประกอบการก็สามารถแจ้งความจำนงได้เพื่อให้ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ได้รับวัคซีน HPV
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน HPV ที่จะฉีดให้กับผู้หญิงอายุ 11-20 ปีจะเป็นแบบ 2 สายพันธุ์คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 โดยจะต้องฉีด 2 เข็ม ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้สูง เป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) ตอนนี้มีวัคซีนอยู่ที่กรมควบคุมโรคประมาณ 1.2 ล้านโดส ซึ่งสามารถเริ่มฉีดได้ทันที
เมื่อถามว่าหากกรณีผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ได้รับวัคซีน HPV เข็มแรกมาแล้ว ต้องการมารับเข็ม 2 ฟรีจากโครงการนี้ สามารถทำได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีน HPV ต้องฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือนถึง 1 ปี ดังนั้น ต้องดูว่าคนที่ฉีดมา 1 เข็ม ได้รับมาตอนไหน ถ้าฉีด 1 เข็มนานเกิน 1 ปีแล้ว ก็ต้องมาเริ่มฉีดใหม่ทั้ง 2 เข็ม
เมื่อถามว่างบค่าฉีดวัคซีนให้บุคลากรมีเท่าไหร่ต้องจ่ายเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เดิมทีเรามีงบส่วนนี้ให้ทุกปี โดยฉีดวัคซีนเฉลี่ยปีละ 4 แสนโดส ปีละ 2 ครั้ง คือ ปีละ 8 แสนโดส ให้โดสละ 20 บาท แต่ 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ฉีดวัคซีนเอชพีวี แต่สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริการไปก่อนแล้ว 2.4 ล้านโดส ดังนั้น เงินฉีดวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ 1 ล้านโดสขอให้ใช้จากงบเดิมที่สปสช.เคยจัดสรรให้ไปก่อน กระทั่งหากไม่พอ หรือมีการฉีดนอกเหนือจากนี้จะมีการจัดสรรใหม่ลงไป