xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไกด์ไลน์ตรวจรักษา "ไข้เลือดออก" ฉบับย่อ เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยง ภาวะช็อก อาการต้องแอดมิท จุดระวังก่อนส่งกลับบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์จัดทำไกด์ไลน์วินิจฉัย รักษาผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" ฉบับย่อ เน้นย้ำกลุ่มเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน แนวทางวินิจฉัยผู้ป่วยสงสัย คอนเฟิร์มโรค ลักษณะภาวะเดงกีช็อก เกณฑ์การรับไว้ใน รพ. ผู้ป่วยเดงกีที่อาการแปลกออกไป การดูแลผู้ป่วยทั้ง 3 ระยะ ข้อควรระวังก่อนส่งกลับบ้าน

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมการแพทย์ ร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งจากกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชนินี และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำ “แนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษา ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก (ฉบับย่อ) พ.ศ. 2566” Clinical Practice Guideline Dengue Hemorrhagic Fever (DHF) 2023 เผยแพร่ในเว็บไซต์กรมการแพทย์เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการวินิจฉัยดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ให้เป็นปัจจุบัน โดยแนวทางฉบับดังกล่าวระบุว่า ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกถูกจัดเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โรคไข้เลือดออกเดงกี มีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือ การมีรั่วของพลาสมา และมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรค ซึ่งมักเกิดขึ้นร่วมกัน แต่มีระดับความรุนแรงของโรคแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย โดยผู้ป่วยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อน ประกอบด้วย เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี สตรีตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด และโรคไต เป็นต้น และผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด เป็นต้น

แนวทางฯ ดังกล่าวยังระบุถึงการวินิจฉัยผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลัน 2-7 วัน ร่วมกับมีลักษณะอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างน้อย 2 ข้อ ดังนี้ 1.ปวดศีรษะ 2.ปวดเบ้าตา 3.ปวดกล้ามเนื้อ 4.ปวดข้อหรือปวดกระดูก 5.ผื่นแดงบริเวณผิวหนัง 6.ภาวะเลือดออกผิดปกติ ได้แก่ มีผลการทดสอบด้วย tourniquet test ให้ผลบวก มีจุดเลือดออกตามตัว มีจ้ำเลือดบริเวณผิวหนัง มีเลือดกำเดาไหล มีอาเจียนเป็นเลือดสดหรือเป็นสีดำ มีถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดหรือสีดำ มีปัสสาวะเป็นเลือดสด หรือน้ำตาลเข้ม และมีประจำเดือนมานอกรอบหรือมามากผิดปกติ เป็นต้น 7.ปริมาณเม็ดเลือดขาว(white blood cell count) ≤5,000 cells/ mm3 โดยมีเม็ดเลือดขาวชนิด atypical lymphocytes เพิ่่มขึ้้น 8.ค่าฮีมาโทคริต (hematocrit) เพิ่่มขึ้้น 5-10% 9.ปริมาณเกล็ดเลือด (platelet count) ≤150,000 /mm3

ส่วนการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกเดงกี ระบุว่า ไข้เลือดออกเดงกี หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลันและสูงลอย 2-7 วัน ร่วมกับมีลักษณะอาการทางคลินิกและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยลักษณะอาการทางคลินิก คือ มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ตับโต มักกดเจ็บ ปวดท้อง หรืออาเจียน มีภาวะเดงกีช็อก ขณะที่ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ คือ มีหลักฐานการรั่วของพลาสมา และมีปริมาณเกล็ดเลือดน้อยกว่าหรือเท่ากับ 100,000 /mm3

สำหรับการวินิจฉัยภาวะเดงกีช็อก คือ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือสงสัยจะเป็นไข้เลือดออก ร่วมกับมีอาการและอาการแสดง ดงันี้ มีการไหลเวียนเลือดล้มเหลว จะตรวจพบว่า มีชีพจนเต้นเร็วและเบา มีผิวเย็นซีด โดยเฉพาะมือและเท้าเย็น มีค่า pulse pressure ≤20 mmHg (พบได้เพียงร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีภาวะเดงกีช็อก) และมีค่าความดันเลือดต่ำร่วมกับมีภาวะ tissue hypoperfusion โดยตรวจพบว่า มีอาการหน้ามืด เป็นลม เวียนศีรษะ ปัสสาวะลดลง กระสับกระส่าย หรือระดับความรู้สึกตัวลดลง มี capillary refill time >2 วินาที

ส่วนเกณฑ์การรับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสเดงกีหรือผู้ป่วยที่สงสัยจะเป็นไข้เลือดออกเดงกีไว้ใน รพ. คือ หากพบอาการแสดงเพียง 1 ข้อ เช่น รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ อาเจียนมาก ปวดท้อง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หน้ามืด เป็นลม มีภาวะเลือดออกผิดปกติมมาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือมีประจำเดือนมานอกรอบ และผู้ป่วยที่มีปัสสาวะสีน้ำตาลเข้ม มีสีดำ หรือมีสีโค้ก มีภาวะเดงกีช็อก มีปริมาณเกล็ดเลือด ≤100,000 /mm และเริ่มมีการรั่วของพลาสมา มีการทำงานบกพร่องของไต หัวใจ หรือระบบประสาท เช่น ปัสสาวะลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ระดับความรู้สึกตัวลดลง เป็นต้น

นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวยังระบุถึงแนวทางการวินิจฉัยผู้ป่วยเดงกีที่มีอาการแปลกออกไป การูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต และระยะฟื้นตัว การให้สารน้ำทดแทนในผู้ป่วยไข้เลือดออก ทั้งที่มีและไม่มีภาวะเดงกีช็อก การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีภาวะแทรกซ้อน ข้อบ่งชี้ในการให้ Dextran 40 การให้เลือดทดแทน ข้อควรพิจารณาก่อนส่งผู้ป่วยกลับบ้าน เกณฑืการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ชุมชนไปยัง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป หรือ รพ.ที่มีศักยภาพสูงกว่า และการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกที่บ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น