เชียงใหม่ - ทีมสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เร่งดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบสงครามอิสราเอล-ครอบครัวที่ยังเฝ้ารอ เผยมีแรงงาน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งสิ้น 4,550 คน กลับภูมิลำเนาแล้ว 89 คน (ณ 24 ต.ค.)
แพทย์หญิง บุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการสาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมทีมคณะกรรมการบริหารเขตสุขภาพที่ 1 ครั้งที่ 9/2566 ณ ห้องประชุม C71 ชั้น 7 อาคารอำนวยการผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลนครพิงค์ เชียงใหม่ ซึ่งมีผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 1 ร่วมประชุม เกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานไทยในอิสราเอล ว่ามีจำนวนแรงงานไทยไปทำงานทั้งหมด 29,900 คน กลับไทยแล้ว 3,830 คน (ข้อมูล ก.แรงงาน 25 ต.ค. 66)
เป็นแรงงานที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีจำนวน 4,550 คน แบ่งเป็น จังหวัดเชียงใหม่ 414 คน จังหวัดเชียงราย 2,174 คน จังหวัดลำปาง 411 คน จังหวัดลำพูน 61 คน จังหวัดแพร่ 120 คน จังหวัดพะเยา 421 คน จังหวัดน่าน 898 คน และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 51 คน กลับถึงภูมิลำเนาแล้ว 89 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ต.ค. 66) และรอเดินทางกลับมาอย่างต่อเนื่อง
ทีมสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งดูแล 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้จัดทีมลงพื้นที่เยี่ยมบ้านและดูแลจิตใจคนไทยที่กลับมาถึงภูมิลำเนาแล้วทุกครอบครัว ส่วนครอบครัวที่ยังเฝ้ารอและต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องซึ่งจะมีทั้งความเครียด ความกังวล ความกลัว ได้มอบให้ทีมเยียวยาจิตใจ หรือ MCATT เขตสุขภาพที่ 1 โดยมี นายแพทย์ กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง เลขานุการคณะกรรมการอำนวยการศูนย์บัญชาการสถานการณ์ฉุกเฉิน (EOC) ติดตามและรายงานอย่างใกล้ชิด
แพทย์หญิง บุญศิริ จันศิริมงคล กล่าวอีกว่าขณะนี้แรงงานไทยได้เดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง อยากให้พี่น้องประชาชนแสดงความห่วงใย ถามไถ่อย่างเหมาะสม “ในหลัก 3 ไม่” ได้แก่ ไม่ถามซ้ำ ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อไม่ให้สร้างรอยแผลอันจะนำไปสู่ความเสียใจ ไม่ตอกย้ำ ถึงขั้นตอน สถานที่ การดำเนินชีวิตหรือลำดับเหตุการณ์อันจะทำให้คิดถึงภาพความรุนแรงที่ยังติดอยู่ในความคิด และไม่รื้อฟื้น ถึงการตัดสินใจไปทำงาน และการติดต่อขอความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตสามารถใช้บริการได้ที่ “ไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323” เพื่อรับคำปรึกษาการดูแลจิตใจกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ด้านนายแพทย์ กิตต์กวี โพธิ์โน กล่าวว่า ทีม MCATT เขตสุขภาพที่ 1 ได้ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ 269 คน โดยจัดกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม แยกเป็น กลุ่ม A คือ ผู้บาดเจ็บ ญาติตัวประกัน/ญาติผู้เสียชีวิตหรือสูญหาย จำนวน 8 คน กลุ่ม B คือ กลุ่มผู้ไม่บาดเจ็บที่กลับมาแล้ว คนไทยที่ยังอยู่ในอิสราเอล ญาติของคนไทยในอิสราเอลที่ยังไม่กลับมา จำนวน 204 คน และกลุ่ม C คือ ประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 57 คน ดำเนินการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตและเยียวยาจิตใจด้วยการให้ปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น การจัดการความเครียดและภาวะวิกฤตทางใจเพื่อลดความเจ็บป่วยด้านจิตใจในอนาคต
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตได้กำหนดแนวทางการดูแลจิตใจแรงงานไทยในสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลในแต่ละกลุ่มออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะวิกฤต (Impact Phase) ครอบคลุมช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งปฏิกิริยาทางใจที่จะแสดงออกในระยะนี้จะประกอบด้วย การช็อก โกรธ เศร้า เสียใจและวิตกกังวล ในช่วงระยะวิกฤตจะใช้แนวทางในการช่วยเหลือโดยวิธีการปฐมพยาบาลทางใจ (Psychological First Aid)
2. ระยะปรับตัว (Post-Impact Phase) ครอบคลุมช่วง 2 ถึง 4 สัปดาห์ ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะพบว่ามีอาการเศร้า เสียใจ มีความกังวลต่อผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือของระยะนี้จะประกอบด้วย การใช้วัคซีนใจในชุมชนเพื่อค้นหาแหล่งสนับสนุนในการช่วยปรับตัว และ 3. ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) ซึ่งจะเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ 1 เดือนเป็นต้นไป ระยะนี้ปฏิกิริยาทางใจที่พบบางรายอาจจะเริ่มปรับตัวได้กับวิถีชีวิตใหม่ได้แล้ว หรือบางรายอาจแย่ลงหากยังอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ ซึ่งแนวทางในการช่วยเหลือของระยะนี้จะใช้วิธีการจิตบำบัด หรือสังคมบำบัดเพื่อฟื้นฟูดูแลต่อเนื่องภายในชุมชน