กรมสุขภาพจิต กางแผนดูแลจิตใจคนไทยในอิสราเอลและครอบครัว 3 กลุ่ม 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะวิกฤต ระยะปรับตัว และระยะฟื้นฟู เผยดูแลคนไทยในอิสราเอลและญาติ 61 ราย พบเครียดทุกราย ส่งทีม MCATT ดูแลลงภูมิภาค ประเมินเยียวยาดูแลใจผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า แรงงานไทยชุดแรกที่กลับจากอิสราเอลเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 15 ราย กรมสุขภาพจิตได้ดูแลจิตใจแล้ว ประกอบด้วยจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุขและสหวิชาชีพด้านอื่นๆ จากการประเมินพบว่า มีภาวะเครียดสูง 2 ราย อยู่ในภาวะนอนไม่หลับจำนวน 7 ราย สำหรับแรงงานไทยในอิสราเอลปัจจุบันมีถึง 25,887 ราย ทำให้ครอบครัวและญาติในหลายพื้นที่มีความเครียดและกังวลอย่างมาก เพราะตอนนี้มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ได้เดินทางกลับ กรมสุขภาพจิตได้แบ่งประเภทกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A ผู้บาดเจ็บ/ตัวประกัน/ผู้สูญหาย รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ได้เตรียมทีม MCATT ส่วนกลางเพื่อประเมินและดูแลจิตใจตั้งแต่ที่สนามบินและจะติดตามอย่างต่อเนื่อง
กลุ่ม B แรงงานไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงหรือปานกลาง รวมถึงญาติของกลุ่มดังกล่าว จากการดูแลจำนวน 61 ราย พบว่า มีความเครียดทุกราย เตรียมทีม MCATT ส่วนภูมิภาคประเมินและดูแลจิตใจที่ภูมิลำเนา และกลุ่ม C ประชาชนทั่วไปที่รับทราบเหตุการณ์ และผู้ปฏิบัติงานกลุ่มต่างๆ จะมีการสื่อสารในวงกว้างด้านสุขภาพจิต เช่น แนวทางการดูแลจิตใจตนเองสำหรับแรงงานไทยที่ยังเดินทางกลับมาไม่ได้ และแนวทางการดูแลสำหรับประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสถานการณ์ความไม่สงบในต่างแดน
ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตกำหนดแนวทางดูแลจิตใจแรงงานไทยในสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลแต่ละกลุ่มเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะวิกฤต (Impact Phase) ครอบคลุมช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมง ถึง 72 ชั่วโมง ซึ่งปฏิกิริยาทางใจที่จะแสดงออกในระยะนี้ ประกอบด้วย ช็อก โกรธ เศร้า เสียใจและวิตกกังวล ในช่วงระยะวิกฤตจะใช้แนวทางในการช่วยเหลือโดยวิธีการปฐมพยาบาลทางใจ 2. ระยะปรับตัว (Post-Impact Phase) ครอบคลุมช่วง 2-4 สัปดาห์ ซึ่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจะพบว่า มีอาการเศร้า เสียใจ มีการกังวลกับผลกระทบจากเหตุการณ์ โดยมีแนวทางในการช่วยเหลือของระยะนี้ ประกอบด้วย การใช้วัคซีนใจในชุมชน เพื่อค้นหาแหล่งสนับสนุนในการช่วยปรับตัว และ 3.ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) จะเริ่มหลังจากเกิดเหตุการณ์ 1 เดือนเป็นต้นไป บางรายอาจจะเริ่มปรับตัวได้กับวิถีชีวิตใหม่ หรือบางรายอาจแย่ลงหากยังอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ แนวทางช่วยเหลือจะใช้วิธีจิตบำบัด หรือสังคมบำบัดเพื่อฟื้นฟูดูแลต่อเนื่องภายในชุมชน
"ส่วนคนไทยที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด สามารถดูแลจิตใจด้วยตนเองเบื้องต้น ดังนี้ 1. รับประทานอาหาร และพักผ่อนให้เพียงพอ 2. รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง 3. สังเกตอารมณ์ตัวเองอย่างสม่ำเสมอ 4. หลีกเลี่ยงการรับข่าวสารที่มากเกินไป ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงต่าง ๆ และ 5. พูดคุยกับคนอื่นเพื่อระบายความรู้สึก เน้นการสร้างความเข้มแข็งทางใจ หากพบความผิดปกติของตนเองหรือคนใกล้ชิด ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือจิตแพทย์ ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษาและการบำบัดรักษา หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 นอกจากนี้ ยังเปิดไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 สำหรับคนไทยในอิสราเอล เพื่อช่วยเหลือด้านจิตใจ" นพ.พงศ์เกษมกล่าว