กรมสุขภาพจิต คลอด 6 แนวทางดูแลจิตใจเบื้องต้น แรงงานไทยตกค้างในเหตุสู้รบอิสราเอล เผย 5 สัญญาณปฏิกิริยาทางใจเมื่อเกิดความกลัวและสูญเสีย
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล ยังมีผู้ที่ติดค้างอยู่ในพื้นที่และเฝ้ารอการเดินทางกลับมายังประเทศไทย และมีผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต้องสูญเสียเพื่อนร่วมงานจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางใจและความรู้สึกต่าง ๆ มากมายในช่วงนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แบ่งออกได้เป็น 5 ระยะ ได้แก่ 1. การไม่สามารถยอมรับความจริงหรือปฏิเสธที่จะรับรู้ สถานการณ์ว่าคนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานได้จากไปแล้วหรือถูกจับกุมตัวไว้ เพราะเป็นการเกิดเหตุการณ์แบบกระทันหัน 2.รู้สึกหงุดหงิด โกรธ อาจระบายใส่กับคนหรือสิ่งของรอบข้างแม้รู้ว่าสิ่งนั้นไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น
3. พยายามต่อรองและหลีกเลี่ยงความจริง ต้องการย้อนเวลากลับไปเพื่อให้เหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นไม่เป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม 4. เริ่มมีความรู้สึกสิ้นหวัง ว่างเปล่า ท้อแท้ รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่มีความหมาย บางคนอาจเก็บตัว และไม่อยากพบใคร และ 5. การยอมรับความเป็นจริงว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้วกับชีวิต และสามารถเกิดได้กับทุกคน ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะกลับไปมีความหวัง ซึ่งในบางรายการยอมรับความเป็นจริงก็สามารถทำให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ของการสูญเสียและกลับไปใช้ชีวิตได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความเจ็บป่วย การช่วยเหลือกันของเพื่อนและครอบครัวจะช่วยให้พ้นผ่านระยะนี้ไปได้
นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า แนวทางการดูแลจิตใจผู้ที่สูญเสีย กรมสุขภาพจิตได้จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ดูแลตามระดับอาการ พร้อมจัดทำแนวทางการดูแลใจเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ยังพำนักอาศัยอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบ คือ 1. ติดตามข่าวสารหรือเช็กข่าวที่ได้ยินจากแหล่งข่าวเชื่อถือได้ ใช้เวลาเสพข่าวอย่างพอเหมาะแต่พอดีหรือมีความเพียงพอต่อความจำเป็นและใช้เวลามีการจับเวลาในการติดตามอย่างเหมาะสม พักการดูข่าวต่อเนื่องยาวนานเป็นระยะ 2. พยายามใช้ชีวิตและทำกิจวัตรประจำวันที่ทำได้เท่าที่สถานการณ์เอื้ออำนวย เพื่อลดความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต 3. มีแผนสำรองสำหรับความปลอดภัยเพื่อจัดการสถานการณ์ วางแผนอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัย จะช่วยความรู้สึกว่าเราพอที่จะควบคุมสถานการณ์ได้บางส่วน
4. ติดต่อกับคนที่เรารักพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นสั้นแต่กำลังใจจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น 5. หากิจกรรมเพื่อลดความเครียด เช่น กิจกรรมที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวและออกกำลังกายบ้างเท่าที่จะทำได้ สามารถใช้การฝึกสมาธิและการฝึกหายใจร่วมด้วย และ 6. ติดต่อขอความช่วยเหลือทางด้านสุขภาพจิตหากรู้ว่าตนเองไม่สามารถจัดการอารมณ์ความคิดและพฤติกรรมได้ หรือความเครียดทำให้รบกวนชีวิตประจำวัน โดยสามารถติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญหรือช่องทางที่หน่วยงานราชการจัดหาไว้ให้ ซึ่งประชาชนที่ยังรอการเดินทางกลับ หรือยังพำนักในพื้นที่สถานการณ์ความไม่สงบ สามารถใช้บริการ “ไลน์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพิ่มเติม สำหรับคนไทยในอิสราเอล” เพื่อรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงร่วมด้วย