xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ศรีสะเกษเตือน! ให้พยาบาลขอถ่ายโอนกลับทำหน้าที่สังกัดเดิมด่วน ขู่ดื้อแพ่งโทษไล่ออกราชการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศรีสะเกษ - นพ.สสจ.ศรีสะเกษประกาศแจ้งเตือนให้พยาบาล และจนท.สาธารณสุข 103 คนที่อยู่ระหว่างขอถ่ายโอนไปสังกัด อปท.กลับมาปฏิบัติหน้าที่ต้นสังกัดเดิมด่วน หากดื้อแพ่งฝ่าฝืนโทษไล่ออกจากราชการ เหตุขาดราชการเกินกว่า 15 วัน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

วันนี้ (25 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ได้มีพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวนประมาณ 103 คนพากันไปรายงานตัวที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ศรีสะเกษ เนื่องจากได้ขอถ่ายโอนไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามความสมัครใจของตนเอง และมีข่าวว่าคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการประชุมครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบข้อมูลการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และ รพ.สต.ให้แก่ อบจ.และจำนวนบุคลากรที่ประสงค์ถ่ายโอนมาสังกัด อบจ.ในปีงบประมาณ 2567 ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเสนอ


อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งและหนังสือสั่งการแจ้งลงมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งให้ข้าราชการที่ได้รับการถ่ายโอนเพื่อให้ไปปฏิบัติราชการที่สังกัดใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่มีการแจ้งด้วยวาจาว่าให้ข้าราชการที่มีรายชื่อได้รับการถ่ายโอนทั้ง 103 รายให้ไปปฏิบัติงานที่หน่วยงานใหม่ตามที่ได้รับการถ่ายโอนได้ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ทางหน่วยงานต้นสังกัดเดิมทั้งโรงพยาบาลจังหวัด รพ.อำเภอได้ทำหนังสือเรียกตัวพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ รพ.สต.ให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่ต้นสังกัดเดิม เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งและหนังสือสั่งการแต่อย่างใด เป็นการไปปฏิบัติราชการสังกัดใหม่ที่ไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายของทางราชการ

นพ.ทนง  วีระแสงพงษ์  นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ
นพ.ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า เรื่องนี้คงจะต้องดำเนินการตามระเบียบข้าราชการพลเรือน เพราะตอนนี้ต้องถือว่าพยาบาลทุกคนยังเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องใช้ระเบียบข้าราชการพลเรือน ดังนั้นในส่วนของบุคลากรสาธารณสุขที่สังกัดอยู่ 5 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นทางโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งไม่ได้มีอยู่ในข้อตกลงของการถ่ายโอนไปยังระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่นตอนนี้เราได้ทำหนังสือไปที่หน่วยงานต้นสังกัดให้เรียกตัวพยาบาลให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ยังต้นสังกัดเดิมก่อน 

ทั้งนี้ เพราะขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขเองถ้าเป็น 5 หน่วยงานนี้ถือว่าปฏิบัติหน้าที่ในระบบตติยภูมิหรือทุติยภูมิคุณสมบัติยังต้องปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของสถานบริการสุขภาพทุติยภูมิและตติยภูมิ ให้กลับมา ไม่อย่างนั้นทางโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชนนี้ก็จะเดือดร้อน ประชาชนจะได้รับผลกระทบเนื่องจากอัตรากำลังขาดหายไปโดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน หากว่ามีพยาบาลผู้ที่ดื้อแพ่งไม่ยอมกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต้นสังกัดเดิม ในเบื้องต้นได้แจ้งไปว่าจะต้องมีการดำเนินการในเรื่องของวินัย


ดังนั้นจึงอยากให้บุคลากรทุกท่านได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของระเบียบข้าราชการพลเรือนที่ท่านยังสังกัดอยู่ให้กลับมา เพราะขณะนี้หนังสือส่งตัว หนังสืออะไรต่างๆ ทั้งหลายนั้นจริงๆ แล้วยังไม่มีปรากฏแน่ชัด ดังนั้นบุคลากรที่เข้าใจว่าจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ที่สังกัดใหม่นั้น ยังเป็นข้าราชการในสังกัดข้าราชการพลเรือน และอีกอย่างหนึ่งเงินเดือนของเดือนนี้ก็ยังเป็นเงินเดือนที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายให้

จึงอยากให้บุคลากรกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่ตนสังกัดเหมือนเดิม โดยขอให้กลับมาในทันทีที่ได้ทราบเรื่องนี้ให้รีบกลับมาโดยด่วนที่สุด เพราะว่ากังวลในเรื่องของการขาดราชการเกิน 15 วันซึ่งถือว่าผิดวินัยอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดชัดแจ้ง โทษคือ โดนไล่ออกจากราชการ ก็อยากให้บุคลากรทุกคนได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ


นพ.ทนงกล่าวต่อว่า ตนขอฝากถึงบุคลากรที่ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สังกัดใหม่ว่า การดำเนินการต้องเป็นไปตามขั้นตอน การที่จะถ่ายโอนไปอยู่ทางท้องถิ่นนั้นมันจะต้องมีขั้นตอนจะต้องมีหนังสือแจ้งมายังปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตรงนี้เท่าที่ทราบมายังไม่เห็นมีหนังสือมาแต่อย่างใด รวมทั้งรายชื่อผู้ที่จะถ่ายโอนไปก็ยังไม่มีรายชื่อปรากฏชัดเจนออกมา จะเห็นมีแค่บางส่วนที่มีอยู่ในข้อตกลงแนวทางโครงการถ่ายโอนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ใน รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป 

ส่วนบุคลากรที่อยู่ในสังกัดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนไป ก็จะต้องรอมติของคณะกรรมการถ่ายโอนร่วมกัน จะต้องสื่อสารร่วมกันกับทางกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะมีมติร่วมกันอย่างไรในการที่จะให้ถ่ายโอนไป ดังนั้นระหว่างนี้มตินี้ยังไม่ออกมา ก็อยากให้ทั้งในส่วนของบุคลากรที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นบุคลากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่ไม่ได้ถ่ายโอนไปด้วยให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ยังต้นสังกัดเดิม


กรณีที่บุคลากรได้ทิ้งหน้าที่ราชการไป ปฏิบัติหน้าที่ยังสังกัดใหม่นั้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อโรงพยาบาลสังกัดเดิมเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่าแผนกบางแผนกต้องปิดตัวลงเนื่องจากอัตรากำลังหายไปโดยทันที ไม่ได้มีการเตรียมการความพร้อมอะไร ไม่ได้มอบงาน ไม่ได้ส่งมอบงานใดๆ ไปเลย บางครั้งมีการจัดเวรเอาไว้แล้วก็ไม่ได้มีการส่งมอบเวรต่อ ฝากเวรต่อหรือทดแทนเวรก็ทำให้เกิดปัญหากระทบต่อการให้บริการประชาชนที่เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นอย่างมาก 


กำลังโหลดความคิดเห็น