ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกสมาคมไก่ฯ เผยค่าเงินไทยอ่อนใกล้แตะ 40 บาท แม้จะดีต่อการส่งออก แต่ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ที่สูงเท่าตัวในภาคเกษตรปศุสัตว์อาจไม่ก่อให้เกิดผลกำไร แนะผู้ส่งออกเร่งขยายตลาดใหม่ ส่วนสงครามในอิสราเอลระยะสั้นยังไม่กระทบค้าขาย
ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดยังใกล้แตะ 40 บาทต่อเหรียญดอลลาร์ว่า แม้จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบธุรกิจส่งออกจากโอกาสที่จะได้รับคำสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น
แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการสู้รบอย่างยืดเยื้อยาวนานระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ประชากรทั่วโลกลดการใช้จ่ายทั้งภาคอุปโภคบริโภค จนมีผลต่อการสั่งซื้อสินค้าจากต่างแดน โดยเฉพาะภาคการส่งออกในธุรกิจเกษตรปศุสัตว์ ที่แม้เนื้อไก่จากไทยจะยังเป็นที่ต้องการของทั่วโลก
โดยเฉพาะปัญหาด้านการขนส่งที่ยากขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงจากการสู้รบยิ่งส่งผลให้การใช้จ่ายทั่วโลกชะลอไป อีกทั้งราคาวัตถุดิบที่ใช้ประกอบในการอาหารสัตว์ซึ่งยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ และปัจจุบันมีปัญหาทั้งเรื่องเพาะปลูกและการขนส่ง ทำให้วัตถุดิบขาดแคลนจนราคาปรับสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
“ในวงการไก่ของไทยนั้น แม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมาก แต่ต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นหากผู้ประกอบการไม่มีตลาดส่งออกที่ดี หรือไม่มีการทำตลาดที่มั่นคงอาจจะขาดทุนได้ในปีนี้ จากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพด ถั่วเหลือง และอื่นๆ แพงขึ้นเท่าตัว”
ดร.ฉวีวรรณ ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรได้ร้องเรียนผ่านไปยังหน่วยงานภาครัฐและรัฐบาลเพื่อให้หาทางช่วยเหลือแล้ว แต่เนื่องจากการช่วยเหลือที่ไม่ทันกับภาคการผลิตที่ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ภาพรวมการส่งออกเนื้อไก่ไทยเพิ่งจะเริ่มกระเตื้องขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้เท่านั้น
แต่คาดว่าเมื่อพ้นเดือน ธ.ค.ไปแล้วการกักตุนสินค้าเพื่อเตรียมไว้ใช้ในเดือน ม.ค.ปีหน้าของกลุ่มคู่ค้าในต่างประเทศจะเกิดการชะลอตัวเมื่อถึงวันนั้นราคาเนื้อไก่ของไทยจะตกลงตามกลไกของตลาด
“แนวโน้มความต้องการเนื้อไก่ไทยในตลาดโลกขณะนี้เปลี่ยนไปจากเดิมที่เราผลิตเพื่อส่งขายในทันที แต่ในปีนี้เราเพิ่งจะมียอดสั่งซื้อจำนวนมากในเดือน ก.ย. ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติยอดสั่งซื้อสินค้าจะต้องเริ่มมาตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.แล้ว ซึ่งในปีนี้ถือว่าช้ากว่าเดิมประมาณ 3-4 เดือน”
แต่อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังคาดการณ์ว่าตัวเลขการส่งออกในปีนี้จะยังคงทะลุแสนตัน และสร้างเงินเข้าประเทศไม่น้อยกว่าหลักแสนล้าน แต่ในแง่ของการผลิตที่ต้นทุนไม่บาลานซ์กับการขายที่มีปัจจัยจากสงครามทำให้ราคาส่งออกไม่มั่นคง อีกทั้งการที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศจึงทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยยังสูงอยู่
คาดสงครามใหม่ในอิสราเอลยังไม่กระทบส่งออกในระยะสั้น
ส่วนการเกิดสงครามในประเทศอิสราเอลนั้น ดร.ฉวีวรรณ มองว่าในเบื้องต้นจะยังไม่มีปัญหาต่อการส่งออกของไทย เพราะประเทศคู่ค้ายังคงใช้ออเดอร์สินค้าเดิมที่ทำการสั่งซื้อล่วงหน้าไปจนถึงเดือน ธ.ค.ปีนี้ แต่หลังจากนั้นอาจหยุดการสั่งซื้อหากสงครามที่เกิดขึ้นทั้งในยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งในฝั่งตะวันออกกลางไม่ยุติ
“ในส่วนของสมาคมฯ เราได้แจ้งเตือนสมาชิกให้ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวจากทั่วโลก ซึ่งขณะนี้พบว่าการผลิตเนื้อไก่เพื่อขายในประเทศเริ่มประสบปัญหาการขาดทุนแล้วจากการไม่มีตลาดรองรับ อีกทั้งยังมีโรงเชือดที่เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากหันมาผลิตเนื้อไก่ขายภายในประเทศจนทำให้ราคาตกต่ำจากการผลิตที่ล้นตลาด
ส่วนการส่งออกต้องพยายามเพิ่มคู่ค้ารายใหม่ให้ได้เพื่อความอยู่รอด ซึ่งในเรื่องนี้หวังว่า รมว.เกษตรฯ จะเข้ามาดูแลและควบคุมไม่มีเรื่องเนื้อไก่เถื่อนเกิดขึ้นเช่นเดียวกับปัญหาเนื้อหมูเถื่อนที่อาจจะซ้ำเติมตลาดให้ย่ำแย่ได้” ดร.ฉวีวรรณ กล่าว