xs
xsm
sm
md
lg

รมว.พาณิชย์ต้องรู้ว่าต้นทุนหลักของเนื้อสัตว์ ไม่ใช่น้ำมันดีเซล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.พาณิชย์ต้องรู้ว่าต้นทุนหลักของเนื้อสัตว์ไม่ใช่น้ำมันดีเซล

โดย ปฐพี สวัสดิ์สุคนธ์

เห็นข่าว “ภูมิธรรมเผยจ่อลดราคาเนื้อสัตว์-ไข่ไก่ หลังรัฐบาลปรับลดน้ำมันดีเซล” ในสื่อแล้ว เกษตรกรคนเลี้ยงหมูถึงกับถอนใจกันทุกคน เพราะทุกวันนี้ขาดทุนหนักกันอยู่แล้ว และเป็นขาดทุนสะสมมานานกว่า 8 เดือน ที่ต้องใช้เวลากว่าจะฟื้น หากถูกบีบให้ลดราคาเนื้อสัตว์อีกคงตายกันทั้งวงการ

ท่านรัฐมนตรีควรทราบด้วยว่าต้นทุนการผลิตหลักของสินค้าเนื้อสัตว์คือ “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ซึ่งเป็นต้นทุนส่วนใหญ่ราว 60-70% ไม่ใช่น้ำมันดีเซลที่รัฐบาลจะลดราคาให้แค่ 3 เดือน โปรดศึกษาอย่างรอบคอบและระมัดระวังก่อนประกาศอะไรแบบนี้ออกมา ที่สำคัญควรศึกษาให้ถ้วนทั่วทั้งห่วงโซ่การผลิต ศึกษาถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้าน เพื่อนำสิ่งที่มีออกมาช่วยให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ทั้งหมด

ความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหนักหนาสาหัสมาตลอด 2 ปี ทั้งโรคระบาด ASF ทั้งปัญหาหมูเถื่อน ทั้งต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงลิ่วจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงการแบกภาระขาดทุนสะสมมานานกว่า 8 เดือน จนเป็นเหตุให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขอเข้าพบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการประชุมหารือกับ Pig Board หรือคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

หนึ่งในวาระสำคัญของการหารือครั้งนี้คือ “โครงการขายสุกรตามโครงสร้างต้นทุน” หลังจากเกษตรกรทั้งประเทศต้องประสบภาวะขาดทุน และไม่มีแนวโน้มที่ราคาจะขยับเกินต้นทุน ทำให้ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มทยอยปิดตัว หยุดประกอบกิจการฟาร์มลงไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลเป็นลูกโซ่ให้ลูกสุกรพันธุ์ราคาตกต่ำตามราคาสุกรขุน เพราะเกษตรกรไม่มั่นใจที่จะนำลูกสุกรเข้าขุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการขาดทุนซ้ำ ขณะที่ผลผลิตที่เลี้ยงมาก่อนหน้านี้ พร้อมแล้วที่จะออกสู่ตลาดในอีก 4 เดือนข้างหน้า แต่ราคาขายหน้าฟาร์มยังไม่มีทิศทางที่ดีขึ้น กลายเป็นปากเหวที่รอวันตกลงไปตาย

จึงจำเป็นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องรักษาอาชีพ และพยายามเรียกร้องขอความเข้าใจ และขอการช่วยเหลือจากภาครัฐทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงพาณิชย์ (ที่ท่านรัฐมนตรีเพิ่งแสดงความไม่เข้าใจเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ไปหยกๆ) เมื่อประเทศมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องที่จะช่วยเหลือผู้ผลิตอาหารได้ ต้องรู้จักหยิบจับขึ้นมาปัดฝุ่นและบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์

กฎหมายที่กำลังกล่าวถึงคือ “พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ (มาตรา ๒๕)” ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุไว้ว่า เมื่อได้มีการประกาศกําหนดสินค้าหรือบริการควบคุมตามมาตรา ๒๔ แล้ว ให้คณะกรรมการมีอํานาจ ดังต่อไปนี้ (๑) กําหนดราคาซื้อหรือราคาจําหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมให้ผู้ซื้อซื้อในราคาไม่ต่ำกว่าราคาที่กําหนด หรือให้ผู้จําหน่าย จําหน่ายในราคาไม่สูงกว่าราคาที่กําหนด หรือตรึงราคาไว้ในราคาใดราคาหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งในที่นี้สุกรและเนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายในอยู่แล้ว ควรปกป้องช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการบังคับใช้กฎหมายนี้ทันที

เชื่อว่าหากกรมการค้าภายในประกาศคำสั่งให้โบรกเกอร์หรือเขียงหมูซื้อสุกรหน้าฟาร์มในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุน จะนำไปสู่การบริหารจัดการต้นทุนตัวใหญ่ที่สุดให้เกษตรกรด้วย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด สร้างความสมดุลให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิต และนำไปสู่การสร่างเสถียรภาพความมั่นคงของอาชีพเลี้ยงสุกรให้เกษตรกรไทย

อย่ามัวแต่กังวลค่าครองชีพประชาชนจนกลายเป็นการทำลายผู้ผลิตอาหาร เพราะสุดท้ายหากไม่มีคนผลิต ส่งผลอาหารขาดแคลน คนไทยย่อมต้องจ่ายแพงกว่า และเดือดร้อนกันทั้งประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น