กรมการค้าภายในเกาะติดสถานการณ์การผลิตและราคาไข่ไก่ พบออกสู่ตลาดวันละ 43.99 ล้านฟอง เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่มีวันละ 42.47 ล้านฟอง ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 3 เฉลี่ยทั่วประเทศฟองละ 4.32 บาท เผยราคาทั้งขายส่ง ขายปลีก ทรงตัวมาตั้งแต่เดือน ก.ค.แม้ต้นทุนพุ่ง ระบุได้ช่วยลดต้นทุนให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่อย่างต่อเนื่อง และนำไข่ไก่ขายผ่านโมบายล์และห้างท้องถิ่น ลดค่าครองชีพให้ผู้บริโภคต่อเนื่อง
นายอุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์การผลิตและภาวะการค้าไข่ไก่ ทั้งระดับค้าส่งและค้าปลีกอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด รวมถึงได้หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์และองค์กรผู้เลี้ยงไก่ไข่มาโดยตลอด พบว่าปัจจุบันปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดขณะนี้ประมาณ 43.99 ล้านฟอง/วัน เพียงพอต่อการบริโภคที่เฉลี่ยประมาณ 42.47 ล้านฟอง/วัน จึงไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแต่อย่างใด ส่วนราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ทั่วประเทศเฉลี่ยฟองละ 4.32 บาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในภาคเหนือ และภาคอีสาน เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และราคาไข่ไก่ทุกเบอร์ ทั้งขายส่งและขายปลีก ณ ตลาดกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ทรงตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566 หลังจากราคาไข่คละหน้าฟาร์มปรับขึ้น 0.20 บาท/ฟอง จาก 3.80 บาท/ฟอง เป็น 4.00 บาท/ฟอง เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตไข่ไก่ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เดือน ก.ย. 2566 เพิ่มขึ้น 13% จากต้นทุนเฉลี่ยปี 2565 โดยต้นทุนด้านอาหารสัตว์มีสัดส่วน 74% ของต้นทุนทั้งหมด รวมทั้งจากสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ไข่ ไก่ไข่กินอาหารน้อยลง ทำให้ผลผลิตไข่ไก่ลดลงประมาณ 10-20% และมีขนาดเล็ก โดยไข่ไก่ส่วนมากจะเป็นเบอร์ 3-5 สัดส่วน 50% จากเดิม 30%
“กรมได้มีการกำกับดูแลและติดตามสถานการณ์ราคาไข่ไก่อย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อสร้างความเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้เลี้ยงไก่ไข่จนถึงประชาชนผู้บริโภค ในราคาในทุกระดับการค้ามีความสอดคล้องกัน ตามโครงสร้างที่กรมกำกับดูแล หากพบผู้ค้ารายใดมีพฤติกรรมจำหน่ายไข่ไก่ในราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 และหากพบการกระทำผิด จะมีความผิดตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีโทษปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายอุดมกล่าว
นายอุดมกล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ กรมได้จัดทำโครงการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการอาหารสัตว์ให้เกษตรกรรายย่อย รายเล็ก และรายกลางที่เลี้ยงสุกร ไก่ไข่ ไก่เนื้อ กิโลกรัมละ 1 บาท รายละไม่เกิน 10 ตัน และโครงการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ปี 2566 โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ในอัตรา 3% ต่อปี ระยะเวลาชดเชยไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) พิจารณาในวันที่ 6 ก.ย. 2566
นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงไข่ไก่จากผู้เลี้ยงรายย่อยมาจำหน่ายผ่านโมบายล์ธงฟ้าและห้างท้องถิ่น เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันด้วย