พิษณุโลก - “นายกฯ เศรษฐา” กำหนดลงพื้นที่ดูน้ำท่วมบางระกำ 14 ตุลาฯ นี้ ส.ส.เพื่อไทย-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่อชงสารพัดแผนแก้น้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซาก เพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำ “บางระกำโมเดล”
ระหว่างนางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 พรรคเพื่อไทย และนายสมเกียรติ ชื่นบางบ้า คณะกรรมการมูลนิธิร่วมกตัญญูพิษณุโลก ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วม และนั่งเรือตระเวนท้องแบนแจกเครื่องยังชีพและน้ำดื่มแก่ชาวบ้านหมู่ 1, 2, 3 ต.ชุมแสงคราม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ต้นสัปดาห์นี้ ได้ประกาศว่าจะขอผลักดันพื้นที่บางระกำหรือแม่น้ำยมฝั่งขวาให้อยู่เขตชลประทาน เพื่อไม่ให้ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซากอีก
ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ ถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จึงประสานไปยังรัฐบาล กระทั่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ มีกำหนดการเดินทางมาดูสถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ รมว.เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช แจ้งมาเป็นเบื้องต้นว่า นายกฯ ห่วงใยปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่องบางระกำโมเดล ต้องบูรณาการแก้ปัญหา จะต้องเก็บน้ำเป็นช่วงๆไว้ใช้ฤดูแล้ง ซึ่งปี 65 ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำป่าไหลหลากถึง 550 ล้าน ลบ.ม. แต่ปีนี้ น้ำหลากมาเพียง 400 ลบ.ม. บึงตะเคร็งและบึงขี้แร้ง ยังรับน้ำไม่เต็มพิกัด นอกจากนี้น้ำมาแล้วก็ผ่านไป ฤดูแล้งก็ไม่มีน้ำอีก
ดังนั้น ตนจะผลักดันให้พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม หรือเขตบางระกำทั้งหมด ให้อยู่ในเขตชลประทาน และจะผลักดันการบูรณาการจัดการน้ำพื้นที่พิษณุโลก-กำแพงเพชร ซึ่งจะต้องผันน้ำปิงจากคลองท่อทองแดง จ.กำแพงเพชร เข้าสู่ อ.บางระกำ โดยกำหนดให้อยู่ในเขตชลประทานเช่นกัน เพื่อบริหารจัดการแก้ปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมให้เป็นระบบ
เบื้องต้นมีรายงานว่า วันที่ 14 ตุลาฯ นี้นายกฯ มีกำหนดเดินทางเข้าไปตรวจพื้นที่รับน้ำอำเภอพรหมพิราม และตรวจโครงการแก้มลิง บึงตะเคร็ง อำเภอบางระกำ จ.พิษณุโลก ซึ่งโอกาสนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ส.ส.ในพื้นที่อาจจะมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ดังนี้
พื้นที่พรหมพิราม อาจมีการเสนอโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทุ่งสาน และแก้มลิงบึงหล่ม ต.ดงประคำ, อ.บางระกำ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ พื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำยม (นอกเขต ชป.) เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในบึง 3 บึง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง รองรับเอลนีโญอย่างยั่งยืน และโครงการเพิ่มศักยภาพการหน่วงน้ำในพื้นที่โครงการบางระกำโมเดลจาก 400 เป็น 550 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2567 ในพื้นที่โครงการส่งน้ำฯ ยมน่าน ส่วน อ.วังทอง อาจมีการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาอุทกภัยในแม่น้ำวังทอง และแม่น้ำชมพู