xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกญัตติด่วนแก้น้ำท่วม แนะผันเก็บกักใช้หน้าแล้ง เตือนภัยผ่านมือถือ ประกาศเขตภัยพิบัติรับน้ำลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาถกญัตติด่วน แก้ปัญหาน้ำท่วม และแนวทางแก้ไข แนะผันน้ำไปพื้นที่เก็บกักน้ำใช้หน้าแล้ง-เสนอแจ้งเตือนภัยผ่านมือถือ ประกาศเขตภัยพิบัติรองรับหลังน้ำลด
วันนี้ (4 ต.ค.) เวลา 12.40 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มี นายปดิพัทธ์ สันดิภาดา รองประธานสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้โดยด่วน เพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป มี 3 ญัตติ เสนอโดย นายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย นายสัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และ นายคริษฐ์ ปานเนียม ส.ส.ตาก พรรคก้าวไกล

นายธีระชัย อภิปรายว่า พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบและน่าเป็นห่วงมาก เพราะที่ระบายน้ำจากเขื่อน ต้องมีพื้นที่ที่รองรับมวลน้ำมหาศาล เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ตึง ดังนั้น ในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเขื่อนลำปาว ไหลลงมาท่วม บริเวณ กาฬสินธุ์ ยโสธร อุบลราชธานี ซึ่งเกิดน้ำท่วมอยู่ในเวลานี้ ซึ่งนายกฯกำลังจะเดินทางไป จ.อุบลฯ ยโสธร ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ เพื่อหาทางป้องกัน ซึ่งน้ำท่วมเป็นผลมาจากย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านประเทศไทย ส่วนปริมาณน้ำเขื่อนทางภาคเหนือ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราพูดเรื่องน้ำแล้ง แต่วันนี้ต้องมาพูดเรื่องน้ำท่วม ซึ่งวันนี้กลุ่มลุ่มแม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง น้ำยังน้อยอยู่ เพราะมีที่เก็บกักน้ำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากฝนตกท้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีที่กักเก็บน้ำ วิธีแก้คือ ปิดเปิดประตูระบายน้ำ และสูบน้ำจากหน้าเขื่อนเอาไปไว้หลังเขื่อน เพื่อไว้ใช้หน้าแล้ง ส่วนในภาคอีสาน สถานการณ์น้ำท่วมตอนนี้มีหลายจังหวัดและทุกปี ควรควบคุมน้ำจากลำน้ำมูล ที่ไหลไปแก่งสะพือ และลำน้ำมูล ไม่มีการผันน้ำออกทางซ้ายหรือขวาลงทุ่งได้ มีอย่างเดียวคือ ไหลผ่านใจกลางเมืองอุบลฯ ซึ่งทำให้น้ำท่วมขังยาวนานมาก ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาในจุดนี้

ด้าน นายสัญญา อภิปรายว่า น้ำท่วมหนักในตอนนี้ คือ ที่ จ.สุโขทัย และกำลังจะไหลลงมาที่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร และ นครสวรรค์ โดยผ่านแม่น้ำ ปิง วัง ยม นาน ลงเจ้าพระยา จึงอยากให้พิจารณาพื้นที่รับน้ำที่ อ.ชุมแสง และบางส่วนของ อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าไม่เก็บกักน้ำที่นี้ ภาคกลางไม่เหลือ เพราะเขื่อนเจ้าพระยา รับน้ำได้ไม่มาก สุดท้ายก็เอ้อล้นมาที่พื้นที่ภาคกลาง วันนี้น้ำเริ่มเข้าชุมแสงแล้ว ซึ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนัก จึงอยากให้รัฐบาลเตรียมการช่วยเหลือ ทั้งถุงยังชีพ เรือที่ใช้สัญจรในพื้นที่ แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลืออยู่ แต่ก็ไม่เพียงพอ เพราะต้องรับน้ำ 2-3 เดือน หากรัฐบาลเตรียมการไว้ ประชาชนจะได้รับผลกระทบน้อยลง รวมถึงหลังน้ำลดตลิ่งก็ทรุดไปด้วยก็ต้องแก้ปัญหาและทำให้เป็นรูปธรรมก็จะเป็นประโยชน์มาก ซึ่งแต่ละโครงการก็มีการศึกษาไว้หมดแล้ว

ขณะที่ นายคริษฐ์ อภิปรายว่า ต้นตอของปัญหาน้ำท่วมในเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีความสัมพันธ์กับปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก และเกี่ยวพันกับการตัดสินใจของนายกฯ ครม.ทั้งกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และผูกพันไปถึงงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้แต่กระกรม แต่ละกระทรวง การบริหารจัดการน้ำ การหาพื้นที่ให้น้ำอยู่ เป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยา แต่การลงมือทำยากมาก จึงขอเสนอแนะ ให้หาที่ให้น้ำอยู่เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และผันน้ำไปช่วยในพื้นที่แห้งแล้งเพื่อแก้ปัญหาแล้งซ้ำซาก รวมทั้งขุดลอกแม่น้ำวัง เพื่อหาทางให้น้ำไปในพื้นที่ที่ต้องการ จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายเห็นด้วยกับญัติดังกล่าว พร้อมเสนอแนะให้มีการเตือนภัยว่าช่วงใดเกิดเหตุน้ำท่วม นอกจากผ่านเฟซบุ๊ก หอกระจายข่าว เสียงตามสายผ่านผู้นำชุมชน คงไม่เพียงพอ จึงขอเรียกร้องให้มีการเตือนภัยและภัยพิบัติต่างๆ ไปยังประชาชนทุกคน โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ “Cell Broadcast” และเห็นว่า พื้นที่ไหนที่น้ำท่วมควรประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อรับรองว่าหลังน้ำลดประชาชนจะได้รับการเยียวยา และเร่งสำรวจวางผังเมืองใหม่

หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น สภาจะส่งความเห็นและข้อเสนอแนะไปให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น