xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ส่งกลับเด็กพม่าเรียนอ่างทองแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง เผยยังมีเด็กไร้รัฐหนีสงคราม-ตามพ่อแม่-แอบบวชไร้สัญชาติ อีกอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - ส่งกลับเด็กพม่าเข้าเรียนอ่างทอง 126 คน แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง..องค์กรภาคีเครือข่ายช่วยเด็กไร้รัฐเปิดเวทีถกทางออก ชี้ยังมีเด็กหนีสงคราม-ตามพ่อแม่แรงงานต่างด้าว กระจายอยู่ทั้งชายขอบ/พื้นที่ชั้นใน หลายหมื่น บ้างบวชแบบไร้สัญชาติเป็นพันๆ เสนอรัฐเปิดทางเข้าถึงระบบการศึกษา-สาธารณสุข ก่อนบ่มเพาะปัญหาอาชญากรรม


กรณีการส่งกลับเด็กชาวเมียนมาข้ามแดนเข้าเรียนโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง รวม 126 คน กลับประเทศ-ดำเนินคดีผู้บริหารโรงเรียน ห้วงเดือน ก.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น ทำให้องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอที่ทำงานเกี่ยวกับปัญหาเด็กข้ามชาติได้ระดมกำลังกันเพื่อหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เนื่องจากยังคงมีเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติหรือเด็กกลุ่ม G อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดโครงการคุ้มครองสิทธิเด็กไร้สัญชาติระยะที่ 3 ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และองค์กรภาคีหลายหน่วยงาน ได้เปิดเวทีระดมสมองหาทางออก ณ ห้องประชุมโรงเรียนทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย สุดสัปดาห์นี้ โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และกรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ.ร่วมกับหลากหลายบุคคลในองค์กรต่างๆ ร่วมหารือ

นางกัลยา ทาสม ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง กล่าวว่า เด็กนักเรียนชาวเมียนมาทั้ง 126 คนไม่ได้ถูกดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อตนและผู้ที่หวังดีที่อยากให้เด็กได้รับการศึกษาอีก 4 คน ดังนั้นพวกตนจึงไปร้องเรียนต่อหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์กฎหมายของคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ฯลฯ

และล่าสุดพบว่าเด็กกลุ่มนี้ได้กลับเข้ามาเพื่อศึกษาอีก 20 คน ส่วนที่เหลือออกไปทำงานเพราะกลัวว่าหากกลับไปเรียนจะถูกจับ ขณะที่บางคนเราพาไปสมัครเรียนแต่ทางโรงเรียนในฝั่งไทยไม่รับ โดยอ้างว่ามีนโยบายสั่งมาว่าไม่ให้รับเด็กกลุ่มนี้

นางเตือนใจเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีเด็ก-เยาวชนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเรียนในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแนวชายแดนมีหลายหมื่นคน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ จ.อ่างทอง จึงเป็นกรณีศึกษา เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงมองเรื่องเด็กต่างด้าวเข้ามาลึกถึงชั้นในของประเทศ ดังนั้นหลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงการคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ระบุไว้ทั้งในกฎหมายของไทย และกฎหมายระหว่างประเทศ

ซึ่งข้อสรุปที่ได้จะนำเสนอทั้งระดับนโยบายและระดับพื้นที่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัย มีประชากรสูงวัยเกิน 25% แล้ว เด็กเกิดใหม่ไม่เพียงพอจะดูแลผู้สูงวัย ส่วนเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านหากได้รับการปลูกฝังด้านการศึกษาที่ดีและได้รับสิทธิ เช่น การศึกษา ประกันสุขภาพ การทำงาน ฯลฯ ก็จะเป็นผลดีต่อสังคมไทยในอนาคตได้ต่อไป


นายวีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้ม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกหลานแรงงานชาวเมียนมาทั้งที่เกิดในประเทศไทยและติดตามมาภายหลัง มาเข้าเรียนที่ศูนย์ฯ 208 คน เด็กๆ เหล่านี้มีทั้งที่ได้เรียนตามเกณฑ์และไม่ตรงเกณฑ์ เช่น อายุ 12-15 ปีแต่ยังไม่ได้เรียนหนังสือจึงจัดให้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ฯลฯ

ประเด็นสำคัญคือ แนวโน้มเด็กเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นตามจำนวนของพ่อแม่ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งหากเขาไม่ได้เข้ารับการศึกษาก็จะเป็นแรงงานไร้ฝีมือและหางานทำยาก หรือได้ค่าตอบแทนต่ำ ซึ่งเสี่ยงต่อการทำงานที่ผิดกฎหมายได้

น.ส.ลาหมีทอ ดั่งแดนวิมาน ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน ศูนย์พักพิงชั่วคราว (ผู้หนีภัยความไม่สงบ) จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ศูนย์มีเด็กกลุ่มนี้อยู่กว่า 1,000 คน หลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ หลายคนที่เรียนมาแล้วกลับต้องลี้ภัยสงครามทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นภาครัฐควรเปิดโอกาสให้หน่วยงานหรือองค์กรที่มีศักยภาพเข้าไปให้การช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบโดยเฉพาะด้านการศึกษา

ด้านพระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ ผศ.ดร.อาจารย์ประจำบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวว่า มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานส่งบุตรหลานเข้าบวชตามวัดต่างๆ เพื่อความสะดวกในการดูแลและลดความกังวลในการทำงานของพวกเขา

โดยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.เชียงราย พบว่ามีสามเณรที่ไร้สัญชาติกว่า 1,000 รูป และมีผู้ที่มีสถานะทางทะเบียนอยู่เพียง 80 รูป ซึ่งเป็นเพียงจำนวนที่สำรวจเท่านั้น คาดว่ายังอยู่นอกสำรวจอีกเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐได้ช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ เพราะมีจำนวนมากขึ้นทุกปี


กำลังโหลดความคิดเห็น