เชียงใหม่ - ผู้บริหารปางช้างแม่แตงโต้ NGO โชว์มิวสิกวิดีโอวันช้างโลก ชี้เอาคลิปผ่าจ้านเก่าๆ-คลิปจากเพื่อนบ้าน ตัดต่อเหมือนจงใจเชิงโจมตี-ต่อต้านการท่องเที่ยวช้างไทย ท้ามาดูแสดงช้างน้อยให้เห็นกับตา ด้านสัตวแพทย์ยืนยันช้างมีความสามารถและมีวิสัยที่จะแสดงออกศักยภาพได้
นางวาสนา ทองสุข ชัยเลิศ ผู้บริหารปางช้างแม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวถึงผลกระทบจากคลิปวิดีโอเชิงโจมตีและต่อต้านการท่องเที่ยวช้างไทย โดยองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งที่ถูกเผยแพร่เนื่องในวันช้างโลก ว่า ได้นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จที่ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวช้างไทยเสียหาย ได้รับผลกระทบลูกค้ายกเลิกการจอง เพราะเนื้อหามีการกล่าวหาการฝึกช้างอย่างทรมาน ทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิด
“อยากให้เขาได้มาเห็นความจริงว่าการแสดงความสามารถพิเศษของช้างน้อยแสนรู้ที่ปางช้างแม่แตงเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไปหาเอาคลิปการผ่าจ้านแยกช้างเก่าๆ ที่ยังมีปัญหากันอยู่ว่ามีการจัดทำขึ้นมาเพื่อทำลายวงการท่องเที่ยวช้างไทยหรือเปล่า? บางคลิปก็เป็นคลิปจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทั้งหมดเป็นคลิปเก่าที่มีมานานมากแล้ว แต่กลับนำมาตัดต่อร่วมกับเพลงทำเป็นมิวสิกวิดีโอขึ้นมา เสมือนหนึ่งว่ากว่าที่ช้างจะมาทำการแสดงได้ต้องถูกทรมานกันมาก่อนทุกเชือก ทำให้เกิดภาพลบซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่อพวกเราชาวช้าง”
นางวาสนาได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่อไปอีกว่า ถ้าองค์กรที่สนับสนุนจัดทำและเผยแพร่มิวสิกวิดีโอนี้ออกมา พร้อมและต้องการที่จะเปิดใจรับฟังข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ทางปางช้างแม่แตงของเราก็ยินดีต้อนรับทุกเมื่อ อยากให้มาเห็นของจริงกัน ขอเชิญทั้ง WAP World Animal Protection องค์กรผู้พิทักษ์สัตว์โลก ผู้จัดทำคลิปและทำการเผยแพร่ รวมทั้งศิลปินที่ทำเพลง นายตะวันวาด วนวิทย์ และ นางสาวมารีญา พูลเลิศลาภ ที่ร่วมทำการแสดง ได้มาเห็นความจริง ได้รับข้อมูลอีกด้านอย่างชัดเจน
“เรายินดีต้อนรับให้มาพิสูจน์ได้เสมอทุกเมื่อทุกเวลา อยากให้มาเห็นของจริงที่ปางช้างแม่แตงที่เรายืนหยัดสืบทอดวิถีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น เป็นมรดกภูมิปัญญาไทยที่พวกเราคนเลี้ยงช้างพร้อมจะช่วยกันรักษาไว้ตราบนานเท่านาน ไม่ตกเป็นเบี้ยล่างทางความคิดให้ฝรั่งที่บ้านเมืองเขาไม่มีช้างมาชี้นำการเลี้ยงช้างไทยได้ ” นางวาสนากล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สพ.ญ.ภัคนุช บันสิทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดแสดงความสามารถพิเศษของช้างในฐานะสัตวแพทย์ที่ทำงานด้านช้างมา ว่าเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์กับช้างเลี้ยงที่เหมาะสม เพราะมีประโยชน์ต่อทั้งผู้เลี้ยงช้างและตัวช้างเองแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นช่องทางที่สามารถสร้างรายได้มาเลี้ยงช้าง และหล่อเลี้ยงการท่องเที่ยวช้างไทยที่มีหลากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ควาญช้าง พนักงานในปางช้าง ตลอดจนเกษตรกรที่ปลูกหญ้า กล้วย อ้อย ส่งขายปางช้าง มีความเกี่ยวพันกันทั้งหมด ช้างก็ได้กินอาหารที่อุดมสมบูรณ์ไม่อดอยาก
เพราะช้างเป็นสัตว์ที่กินอาหารเยอะมากในแต่ละวัน ต้องใช้ต้นทุนในการเลี้ยงค่อนข้างสูง นอกจากจะได้รับอาหารที่เพียงพอแล้ว การเลี้ยงช้างและมีกิจกรรมให้ช้างทำก็เป็นการป้องกันไม่ให้ช้างเบื่อหน่าย หรือเครียด โดยเฉพาะช้างเด็ก เป็นช้างที่กระตือรือร้น ชอบทำกิจกรรม ชอบทดลองสิ่งใหม่ มีความซุกซน อยู่เฉยๆ นานๆ ไม่ได้
การฝึกช้างน้อยนั้น ก็มีประโยชน์ต่อตัวช้างเองทั้งในด้านการเรียนรู้ที่จะอยู่กับคน ด้านการทำงานทำกิจกรรมต่างๆ และเป็นประโยชน์ต่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากสัตวแพทย์ที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพของตัวช้างอีกด้วย ช้างเป็นสัตว์บกที่มีสมองขนาดใหญ่ที่สุด มีเซลล์ประสาทจำนวนมาก ระดับสติปัญญาหรือความเฉลียวฉลาดของช้างสามารถเทียบได้กับวาฬ โลมา และลิงชิมแปนซีที่นับว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในโลกเลยทีเดียว นอกจากนี้ช้างยังมีความจำที่ดีมาก ช้างจึงมีศักยภาพในการเรียนรู้และฝึกฝนได้
ช้างที่นำมาแสดงความสามารถพิเศษในลานการแสดงช้างน้อยแสนรู้นั้น ส่วนใหญ่จะนิยมนำช้างเด็กๆ มาทำการแสดงเพราะดูน่ารักน่าเอ็นดู ไม่นิยมนำช้างที่โตแล้วมาทำการแสดง อีกอย่างคือความสามารถในการเรียนรู้ของช้างเด็กจะมีมากกว่าในช้างโต เพราะกำลังอยู่ในช่วงของการมีพัฒนาการ มีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ สามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ง่าย นิยมนำช้างที่หย่านมแล้วนำมาฝึก
โดยปกติแล้วลูกช้างจะหย่านมแม่ตอนอายุประมาณ 2 ปี 6 เดือน หรืออาจจะมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของร่างกายของตัวลูกช้างเอง และในการฝึกปัจจุบันจะสนับสนุนให้เป็นการฝึกแบบการฝึกช้างเชิงบวก (positive reinforcement techniques) มากขึ้น เป็นการฝึกแบบละมุนละม่อม มีการให้อาหารเป็นรางวัล เช่น กล้วย และอ้อย ที่ช้างชอบกินเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นการลดความเครียดให้กับช้างและไม่ต้องให้ช้างมีบาดแผลจากการบังคับฝึก หรือลงโทษ
ทั้งนี้ การแสดงความสามารถพิเศษของช้างจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายของช้างและไม่มีความเสี่ยงทำให้เกิดการบาดเจ็บ เช่น การยืนสองขา การเดินไต่เชือก เป็นต้น เพราะด้วยโครงสร้างร่างกายของช้างที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักตัวมาก การทำท่าทางที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดปัญหาที่ข้อ และหากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ตกจากที่สูง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้
ผศ.ดร.สพ.ญ.ภัคนุชยังได้กล่าวเสริมถึงเรื่องของการจัดการการเลี้ยงช้างตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง เพื่อควบคุมการเลี้ยงช้างให้มีมาตรฐานที่ดี ต้องดูแลและปฏิบัติต่อช้างให้มีความเป็นอยู่ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยช้างที่จะใช้ในการแสดงต้องมีอายุตั้งแต่ 3-60 ปีบริบูรณ์ ลักษณะการแสดงต้องไม่เป็นการแสดงที่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพของช้าง หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อช้าง เช่น การให้ช้างยืนสองขา การยืน นั่ง หรือเดินบนอุปกรณ์ต่างๆ การขับขี่อุปกรณ์ล้อเลื่อน การใช้เสียงดัง เป็นต้น
กำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานจริงไม่เกิน 4 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาทำงานติดต่อกันแต่ละครั้งไม่เกิน 1 ชั่วโมง พักช้างหลังทำงานแต่ละครั้งไม่น้อยกว่า 15 นาที และระยะเวลาการฝึกช้างเพื่อการแสดง ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเชื่อว่าปางช้างสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้