xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.ตราดเตือนประชาชนอย่างเพิ่งย้ายสิ่งของลงด้านล่าง เหตุ 7-10 ก.ย.นี้มีฝนหนักอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ปภ.ตราด เตือนชาวบ้านอย่าเพิ่งย้ายสิ่งของจากที่สูงลงด้านล่าง เหตุ 7-10 ก.ย.นี้มีฝนหนักอีก หวั่นเกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือนซ้ำ โดยเฉพาะใน อ.เกาะช้าง เกาะกูด เขาสมิง บ่อไร่ และ อ.แหลมงอบ อย่างไรก็ดี แม้ฝนถี่แต่ภัยแล้งก็น่าห่วง

วันนี้ (5 ก.ย.) นายเจริญ รัตนบรรณสกุล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด เผยว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นจะเริ่มลดน้อยลง แต่คงต้องฝากเตือนประชาชนว่าอย่าเพิ่งนำสิ่งของที่เก็บไว้บนที่สูงลงสู่ด้านล่างเนื่องจากยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลันในอีก 2-3 วันข้างหน้า

โดยเฉพาะในเขต อ.เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง บ่อไร่ และ อ.แหลมงอบ ที่มีรายงานว่าตั้งแต่วันที่ 7-10 ก.ย.นี้ ปริมาณฝนในพื้นที่จะเพิ่มขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในคลองหลายแห่งใน อ.บ่อไร่ และเขาสมิง ซึ่งอาจจะไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเช่นสัปดาห์ที่ผ่านมา

“ประชาชนใน อ.เขาสมิง และบ่อไร่ ในหลายตำบลที่เก็บทรัพย์สินและสิ่งของขึ้นที่สูง ขอประชาสัมพันธ์ว่าอย่าเพิ่งเอาลงมาไว้ในที่ต่ำ เนื่องจากใน 2 อำเภอนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมสูง และอาจจะเกิดน้ำท่วมซ้ำขึ้นได้”

 หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด
เช่นเดียวกับ อ.เกาะช้าง และเกาะกูด ที่จะต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เพราะแม้จะเป็นพื้นที่เกาะซึ่งทำให้เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำจะสามารถระบายลงสู่ทะเลได้ แต่หากปริมาณฝนตกมากอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาบรรทัดลงสู่ด้านล่าง และอาจมีสิ่งของถูกน้ำพัดกีดขวางทางน้ำไหล ดังนั้นเพื่อให้เกิดการระบายน้ำที่ดี หน่วยงานในพื้นที่จะต้องเฝ้าระวังเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ตราด จะมีฝนตกในหลายพื้นที่ แต่สิ่งที่เกษตรกรจะต้องระวังคือปัญหาการขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ จากปริมาณฝนที่มีน้อย เห็นได้จากสถิติปริมาณน้ำฝนในปี 2565 ที่มีประมาณ 5,000 มม.

แต่ในปี 2566 นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค.ที่ผ่านมา จ.ตราด มีปริมาณน้ำฝนเพียง 2,000 มม. และยังเหลือเวลาที่จะมีฝนตกอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากปริมาณฝนรวมไม่ถึง 4,000 มม. จะคาดการณ์ได้ว่าในปี 2567 จ.ตราด จะเกิดปัญหาภัยแล้งและอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนที่ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก

“ในช่วงฤดูฝนที่เหลืออยู่นี้ เกษตรกรจะต้องเร่งขุดสระหรือขุดบ่อเพื่อเก็บน้ำ และหากขาดน้ำมากอาจจะต้องตัดใจปล่อยให้ต้นทุเรียนหรือผลไม้ยืนต้นตาย หรืออาจจะต้องรดน้ำแบบวันเว้นวันเพื่อรักษาต้นไม้ไว้ วันนี้จึงต้องรีบเก็บน้ำไว้เพื่อใช้ในช่วงขาดน้ำให้ได้มากที่สุด” หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด กล่าว


นายบัณฑิต กูลพฤกษี สมาชิกสภาเกษตรกร จ.ตราด และปราชญ์ชาวบ้าน บอกว่าขณะนี้แม้ว่าปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่งของ จ.ตราด รวมทั้งแหล่งน้ำขนาดเล็กจะยังมีเพียงพอในเขตพื้นที่ชลประทานตราด แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานอาจจะเกิดปัญหาได้

ดังนั้น เกษตรกรรายย่อยที่ปลูกผลไม้ซึ่งต้องใช้น้ำมาก เช่น ทุเรียน จำเป็นจะเตรียมการกักเก็บน้ำไว้ระดับหนึ่ง ส่วนเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ในพื้นที่ สูงหน่วยงานราชการจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ปีหน้าที่จำเป็นต้องมีการใช้น้ำเป็นจำนวนมาก

นายบัณฑิต กูลพฤกษี ปราชญ์ชาวบ้าน




กำลังโหลดความคิดเห็น