xs
xsm
sm
md
lg

เห็นแล้วหิว...“แกงหัวตาล” เมืองเพชร อาหารเชิดชูถิ่น สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้นตาลเมืองเพชรบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - กรมส่งเสริมวัฒนธรรมคัดเลือก “แกงหัวตาล” เพชรบุรี ในกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น ปี 2566 สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้นตาลเมืองเพชรบุรี เครื่องพริกแกงที่ใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยาบำรุงร่างกาย

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ออกประกาศเรื่องผลการคัดเลือกกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ลงวันที่ 29 ส.ค.2566 โดยระบุว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ...ที่หายไป The Lost Taste" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่นที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย และอาหารท้องถิ่น ต่อยอดสมุนไพรไทย สรรพคุณทางเลือกและส่งต่อเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น โดยจังหวัดเพชรบุรี “แกงหัวตาล” ได้รับคัดเลือกในกิจกรรม 1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่นปี 2566


สำหรับ “แกงหัวตาล” เป็นเมนูอาหารพื้นถิ่นที่แสดงถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อของคนเมืองเพชรบุรี เป็นการนำ “ผลลูกตาลอ่อน” จากต้นตาลที่มีอยู่จำนวนมาก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น ฝานเอาเฉพาะเนื้อบนสุดของผลตาลอ่อน นำไปแกงกะทิกับเครื่องพริกแกงเผ็ดที่มีส่วนผสมกับกระชาย เนื้อปลาย่าง แกงกับเนื้อสัตว์ ได้แก่ เนื้อวัวย่าง หรือเนื้อหมูย่าง (เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง) ปรุงรสด้วยน้ำตาลโตนด เกลือ น้ำปลา แกงหัวตาลจะมีรสชาติเผ็ดอ่อนๆ หอมกลิ่นกระชาย เป็นเมนูอาหารที่หารับประทานได้ในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี

โดยเฉพาะในเขตพื้นที่อำเภอบ้านลาด อำเภอเมืองเพชรบุรีที่เป็นแหล่งทำตาลโตนด โดยมีกลุ่มแม่ครัวประจำหมู่บ้าน แม่ครัวประจำวัด แม่ครัวท้องถิ่น แม่ครัวร้านอาหาร เป็นภูมิปัญญาในการประกอบอาหารเมนูแกงหัวตาลมาอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนค่อนข้างมาก ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังคงรักษาคุณค่าและสืบทอดภูมิปัญญาการทำแกงหัวตาลของคนเมืองเพชรบุรี

แกงหัวตาลเมืองเพชรบุรีจึงสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้นตาลเมืองเพชรบุรี รวมถึงเครื่องพริกแกงที่ใช้วัตถุดิบจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่มีสรรพคุณทางยาบำรุงร่างกาย การนำเนื้อของลูกตาลมาประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร มีภูมิปัญญาวิธีการปรุงอาหารที่ไม่ซับซ้อน นับเป็นความโดดเด่นทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้านอาหารของคนเมืองเพชรบุรี








กำลังโหลดความคิดเห็น