xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) อึ้งหนัก! ชาวนากำแพงเพชรเจอแล้งแรงกลางหน้าฝน สู้เฮือกสุดท้ายขับสิบล้อขนน้ำเทลงนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กำแพงเพชร - ชาวนาเมืองกล้วยไข่ระทมหนัก เจอแล้งรุนแรงกลางหน้าฝน จนต้นข้าวที่กำลังออกรวงเหี่ยวใกล้เฉาตาย ต้องตัดสินใจสู้เฮือกสุดท้ายพากันขับสิบล้อ-รถบรรทุก ขนน้ำไกลนับสิบกิโลฯ มาเทใส่นา หวังยื้อต้นข้าวให้ถึงวันเก็บเกี่ยว


ทั้งที่เข้าฤดูฝนมา 3 เดือนกว่าแล้ว แต่ขณะนี้หลายพื้นที่กลับเกิดฝนทิ้งช่วง แม้มีลงเม็ดมาบ้าง แต่ก็ไม่พอที่จะหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา-พืชสวนต่างๆ จนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิต หนำซ้ำน้ำในคลองชลประทานและแหล่งน้ำธรรมชาติก็แห้งหมด เกษตรกรชาวบ้านต้องหาทาง เพื่อให้ข้าว-พืชผลที่ลงทุนลงแรงไปฟื้นตัวเติบโตได้ทันต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต ดีกว่าปล่อยให้แห้งตายลงไปแบบไม่ได้อะไรเลย แถมต้องขาดทุนเห็นๆ

ล่าสุดจากการลงพื้นที่ พบว่าชาวนาบ้านยางเลียง ต.คลองแม่ลาย อ.เมืองกำแพงเพชร ถึงกับต้องลงทุนเพิ่ม พากันไปสูบน้ำใส่รถบรรทุกสิบล้อ แล้วขนมาเทใส่ในนาข้าวกันแทบทุกวัน เพื่อให้ได้ผลผลิตพอที่จะเก็บเกี่ยวเอาทุนคืนได้บ้าง

นางดวงใจ มังโส อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 12 ต.วังทอง อ.เมืองกำแพงเพชร เกษตรกรที่ต้องลงทุนนำรถสิบล้อ-รถบรรทุกน้ำของตัวเองและญาติ ไปสูบน้ำจากคลองชลประทานที่อยู่ไกลออกไปกว่า 10 กิโลเมตร เพื่อนำน้ำมาเทใส่นาข้าวที่กำลังออกรวง แต่กลับไม่มีน้ำในนาข้าวจนต้นข้าวกว่า 14 ไร่เริ่มแห้ง-รวงเริ่มจะเหี่ยวเฉา

นางดวงใจกล่าวว่า ทำนาปีรอบนี้เสี่ยงมาก ตั้งแต่เริ่มปลูกข้าว แม้จะเป็นหน้าฝน แต่ฝนก็ตกมาน้อยต้องหว่านข้าวแห้ง เกือบเดือนกว่าข้าวจะขึ้นเพราะต้องรอฝน พอข้าวเริ่มโตและกำลังออกรวง ฝนก็ทิ้งช่วงอีก น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยใช้ก็แห้งขอดจนไม่พอที่จะสูบใส่นาข้าวได้ จนดินในนาเริ่มแห้ง ข้าวที่ออกรวงเริ่มเหี่ยว หากไม่มีน้ำเข้าไปเลี้ยงต้นข้าวมีหวังตายยกแปลงขาดทุนย่อยยับ


“เราลงทุนไปเยอะ หากปล่อยไว้ก็เสียดาย ทุนที่ลงไปก็จะไม่ได้คืน จึงต้องนำรถสิบล้อของตัวเองและรถบรรทุกน้ำของญาติ ไปขนน้ำมาใส่นาข้าววันละ 5-6 เที่ยว ซึ่งต้องแบกต้นทุนค่าน้ำมันวันละ 1,000 บาทต่อคัน ขนกัน 6 วัน เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงข้าวได้จนออกรวงโตเต็มที่และสามารถเก็บเกี่ยวได้ ถามว่าทำแบบนี้คุ้มหรือไม่ ก็น่าจะคุ้มอยู่ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”

ขณะที่นาข้าวบริเวณใกล้เคียงกันก็เริ่มที่จะแห้งเหี่ยว ข้าวไม่ออกรวง ดินแยกแตกระแหง เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทุนหรือแรงพอที่จะไปหาน้ำที่ไหนมาเติมในนาข้าวได้ รอเพียงน้ำจากฟ้าจากฝนเท่านั้น แต่ตลอดฤดูฝนที่ผ่านมาแทบจะไม่มีน้ำทำนา เพราะฝนตกลงมาน้อย แถมทิ้งช่วงนานแบบนี้ หากไม่มีน้ำเข้ามาเติมนาข้าวยืนต้นตายแน่นอน

นายไว ขมิ้นแก้ว อายุ 69 ปี บอกว่า เริ่มแล้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ไม่มีน้ำฝนตกลงมาในนาข้าวเลย ต้องอาศัยน้ำจากสระหลวง แต่ก็มีเกษตรกรที่ใช้น้ำกันจำนวนมาก ทำให้น้ำไม่พอต่อการทำนา ถึงแม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีโครงการลอกคูคลองแต่ก็ไม่มีน้ำจะเข้าไปในคลอง ทำให้นาข้าวเสียหายมาก บางแปลงถึงกับแห้งตาย ถ้าฝนไม่ตก ที่ลงทุนไปก็เสียหายขาดทุนหมดแน่นอน





กำลังโหลดความคิดเห็น