พิษณุโลก - สส.หน้าคล้าย ”ฮาย อาภาพร”เหยียบหัวคันนา ดูข้าวนาปี แห้งเหี่ยวเฉา รอวันตายสุดลูกหูลูกตานับหมื่นนับแสนไร่..ชาวนาบางกระทุ่มเดือดร้นหนัก ขอทำประตูน้ำใหม่ แต่ได้แค่อีก 3 ปีรอลุ้นของบ ขณะที่ประธานเกษตรแปลงใหญ่เนินมะปราง เผยเคยขอฝนหลวง บอกไม่มีงบ
วันนี้ (19 ส.ค.66)นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 พรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ดูสถานการณ์”ต้นข้าวยืนต้นตาย” กลางนา หมู่ 5 ต.วัดตายม อ.บางกระทุ่ม หลังฝนทิ้งช่วงยาว นาข้าวแห้งแตกระแหงกลางหน้าฝน จนปูนาตาย คาแปลงนาข้าว
ชาวบ้าน ต.วัดตายม อ.บางกระทุ่ม เกือบ 100 คนเดือดร้อนหนักได้นัดรวมพลพร้อมกำนัน-ผู้ใหญ่ ร้องถึง สส.ว่า ข้าวนาปีนับแสนไร่เหี่ยวเฉา ขาดน้ำใน 5 ตำบล พื้นที่ อ.บางกระทุ่ม ต่อเนื่องถึง อ.เนินมะปราง จึงได้ยื่นหนังสือต่อ นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ขอความอนุเคราะห์ ประสานงานขอฝนหลวงและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการด่วน
และขอสร้างประตูน้ำ ที่หมู่ 6 เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งกั้น”คลองชมพู”เป็นตำบลสุดท้ายก่อนเข้าจังหวัดพิจิตร เนื่องจากประตูน้ำเดิม สภาพทรุดโทรม ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้
นายบุญลือ โพศรีวงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเนินกุ่ม เป็นตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า แปลงนาใน 5 ตำบล คือ ต.วัดตายม ต.เนินกุ่ม ต.ท่าหมื่นราม ต.พันชาลี ต.หนองพระ ใน 2 อำเภอคือ อ.บางกระทุ่ม และ อ.เนินมะปราง ที่อยู่นอกเขตชลประทาน 150,000 ไร่เศษ กำลังเสียหายสิ้นเชิงทำให้เกษตรกร 8,900 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีผลผลิตข้าวนาปี บางรายไถปลูกไป 2 ครั้งแล้วก็ยังไม่รอด ข้าวแห้งเหี่ยวกำลังจะตาย นอกจากนี้ มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
“ปีนี้ถือว่า เป็นปีแรก ที่ได้รับผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน น้ำท่วมหัวคันนาไปแล้ว สาเหตุหลักๆ คลองชมพู แห้งขอด ไม่มีน้ำหลากจาก อช.ทุ่งแสลงหลวง อีกทั้งไม่สามารถสร้างเขื่อนชมพู กักเก็บน้ำได้ เนื่องจากมีกลุ่มเอ็นจีโอต่อต้าน”
จากนั้น นางสาวพิมพ์พิชชา ชัยศุภกิจเจริญ ส.ส.เขต 4 พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปที่ หมู่ 6 ต.เนินกุ่ม อ.บางกระทุ่ม เพื่อติดตามปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากลำน้ำคลองชมพู แห้งขอดมีแต่วัชพืช ขึ้นเกาะประตูน้ำเนินกุ่ม ซึ่งเก่า ทรุดโทรม ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้
ซึ่ง จนท.ชลประทาน ระบุว่า ประตูน้ำเนินกุ่ม กรมชลประทานรับทราบปัญหาแล้ว อยู่ระหว่างออกแบบก่อสร้างใหม่ คาดว่า อีก 3 ปี บรรจุแผนเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า แหล่งปลูกมะม่วง อินทผลัม ข้าว มันสำปะหลัง ฯลฯ ของ อ.เนินมะปราง ซึ่งเป็นเขตติดต่อ อ.บางกระทุ่ม ก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเช่นกัน ต้นข้าวหลายหมื่นไร่กำลังจะเสียหายอย่างหนัก
ซึ่งนางสาวชลธิชา ช่างประดิษฐ์ ประธานแปลงใหญ่อำเภอเนินมะปราง ส่งหนังสือถึง เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดพิษณุโลก ภัยแล้งที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง ต้นข้าวหลายหมื่นไร่จากหลายตำบลในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง กำลังจะเหี่ยว เฉา ตายและตนได้ประสานไปยังศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่างแล้ว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการทำฝนเทียมได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณ
ดังนั้น ตนในฐานะตัวแทนเกษตรกร กลุ่มปลูกข้าว กลุ่มมะม่วงเพื่อการส่งออก กลุ่มข้าวโพด และพืชอื่นๆ จึงขอความอนุเคราะห์จากเกษตรจังหวัด ได้หาแนวทางช่วยเหลือ แก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรชาวอำเภอเนินมะปราง ประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนเทียมอย่างเร่งด่วน