ศูนย์ข่าวศรีราชา -พลังรักเปลี่ยนวิกฤตลูกน้อยสู่ผู้สร้างผลงาน “นิทานจากเด็กน้อย By mochi” แปล 4 ภาษาป้อนจิตนาการเด็กทั่วโลก หาทุนช่วยเด็กพิการซ้ำซ้อน มูลนิธิวัดพระบาทน้ำพุ และโรงพยาบาล สร้างกำลังใจพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหาด้านร่างกาย
ครอบครัว “เลิศศรีจตุพร” ถือเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เคยประสบปัญหากล้ามเนื้อมือของลูกน้อยมีอาการอ่อนแรงจนนำสู่การแก้ไขอย่างทันท่วงที วันนี้สามารถผลิตศิลปินเด็กที่สร้างสรรค์ผลงาน “นิทานจากเด็กน้อย By mochi” เพื่อให้บรรดาคุณพ่อ คุณแม่ได้มีนิทานอ่านให้ลูกน้อยฟัง รวมทั้งบรรดาเด็กๆ ยังได้อ่านนิทานจากผู้เขียนวัยเดียวกัน
โดย ด.ญ.นภัสร์รดา เลิศศรีจตุพร หรือน้องโมจิ วัย 8 ปี ที่ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติ Wellington College Bangkok ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งได้สร้างสรรค์นิทานเด็กที่มีการแปลถึง 4 ภาษาคือ ภาษาไทย จีน อังกฤษ และญี่ปุ่น ให้เด็กๆ ในวัยเดียวกันได้อ่านจากจินตนาการกว้างไกลที่พัฒนามาจากความชื่นชอบในศิลปะจนสามารถวาดภาพประกอบนิทานได้เองทั้งเล่ม
วันนี้มีผลงานวางจำหน่ายในร้านนายอินทร์ทุกสาขา รวมทั้งในเพจ“นิทานจากเด็กน้อย By mochi” ,shoppee
&Lazada รวมทั้งเพจ bebefoodthailand และเบบี้จีเนียส สาขาพาราไดซ์พาร์ค กรุงเทพฯ แล้วถึง 3 เล่มประกอบด้วย แม่ไก่ออกไข่ไม่เป็น มังกรผู้โชคร้าย และบรอนโต แบรคิโอซอรัส ไม่อยากกินใบไม้ ส่วนเล่มที่ 4 กำลังจะออกสู่แผงในเร็วๆ นี้
นายณัฐพล เลิศศรีจตุพร และนางศุภศิริ โฆธิพันธุ์ คุณพ่อและคุณแม่ของน้องโมจิ บอกว่าก่อนจะมีวันนี้ครอบครัวต้องผ่านความทุกข์ใจจากปัญหาลูกน้อยมีอาการกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงจนไม่สามารถหยิบจับอะไรได้เช่นเด็กปกติทั่วไปตั้งแต่วัยเพียง 5 เดือน
แต่ด้วยความช่างสังเกต คุณแม่จึงพบความผิดปกติได้เร็ว และนำสู่การแก้ไขผ่านคำแนะนำของแพทย์หลายท่าน กระทั่งค้นพบความพิเศษในตัวลูกน้อยจากการใช้วิชาศิลปะบำบัดจนกลายเป็นศิลปินตัวน้อยในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ครอบครัวนี้ยังนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการจำหน่ายนิทาน ช่วยเหลือบ้านเด็กพิการซ้ำซ้อน และบริจาคร่วมมูลนิธิโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกทั้งมูลนิธิวัดพระบาทน้ำพุ จนได้รับความเมตตาจาก หลวงพ่ออลงกต เขียนคำนิยมประกอบนิทานในเล่มที่ 2
นางศุภศิริ หรือคุณเบียร์ บอกว่าได้เริ่มสังเกตเห็นพัฒนาการของลูกในช่วง 5 เดือนที่ไม่สามารถใช้มือได้เหมือนเด็กทั่วไปคือไม่สามารถใช้มือขยำ ฉีกกระดาษ หรือทิชชูได้ตามพัฒนาการของเด็ก และรุนแรงถึงขั้นไม่สามารถใช้ช้อนตักอาหารเข้าปากได้ จึงเริ่มปรึกษาแพทย์จนได้ข้อสรุปตรงกันว่าลูกนอกจากจะเป็นเด็กถนัดซ้ายแล้ว กล้ามเนื้อมือยังมีภาวะอ่อนแรง
“หลังได้ปรึกษาคุณหมออย่างจริงจัง เริ่มขั้นตอนการแก้ไขกล้ามเนื้อมือด้วยนักกายภาพบำบัดเด็กและดูแลเองที่บ้าน รวมถึงให้ลูกได้เริ่มหัดนวดแป้ง เล่นของบ่อยขึ้น ซึ่งภาวะเช่นนี้คุณหมอให้คำแนะนำว่าต้องใช้เวลานานในการรักษา และผู้ที่อยู่รอบข้างต้องให้เด็กพยายามใช้มือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองอย่างน้อย 5 ปี”
โดยคุณแม่ได้เริ่มให้ลูกน้อยหัดจับปากกาและดินสอขีดเขียน ซึ่งในครั้งแรกยังทำไม่ได้เพราะเมื่อจับปากกาแล้วร่วง ส่วนการขีดเขียนเริ่มจากไม่ตรง ไม่เป็นเส้นสู่ความเป็นระเบียบมากขึ้น จนกระทั่งประมาณ 3-4 ขวบ จึงเริ่มให้ได้เรียนศิลปะ และระบายสีด้วยสีน้ำและสีเทียน ที่มีความอ่อนทำให้เด็กน้อยสามารถบังคับมือได้มากขึ้น
“แต่สิ่งที่เราค้นพบมากกว่านั้นคือ ลูกสามารถอยู่กับหนังสือได้นานๆ โดยไม่เบื่อ และทำงานศิลปะได้ทุกวันโดยไม่เบื่อเช่นกัน จนวันหนึ่งสังเกตเห็นว่าลูกอยู่บ้านแล้วนำกระดาษเปล่ามานั่งขีดเขียนเป็นเวลานาน 2-3 ชั่วโมง และยังสามารถวาดรูปต่างๆ ได้มากขึ้น จากนั้นเริ่มสร้างนิทานของตัวเองจากการท่องจำ ก.ไก่-ฮ.นกฮูกในแบบที่พ่อแม่สอน แต่ลูกกลับนำมาผูกเป็นเรื่องราว เริ่มต้นจากตัวแม่ไก่ซึ่งเป็นสัตว์ ไปถึงตัว ฮ.นกฮูก และสามารถเล่านิทานเรื่องเดิมได้ซ้ำๆ กันโดยไม่ผิดเพี้ยนนานถึง 3 เดือน”
และน้องโมจิ ยังสามารถสร้างพล็อตเรื่องนิทานได้อย่างเป็นระบบจนตนเองแปลกในและได้นำเรื่องไปปรึกษาเพื่อนอยู่หลายคนเนื่องจากเกิดความสงสัยว่าลูกมีความผิดปกติอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ กระทั่งได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่นับถือให้ลองอัดเสียงลูกตอนเล่านิทาน และให้เริ่มวาดรูปตัวละครลงบนกระดาษ A4 เพื่อเขียนเป็นนิทานแจกให้เพื่อนในวัยเดียวกันได้อ่าน
จนปรากฏว่านิทานที่ลูกเขียนและวาดภาพประกอบกลายเป็นที่ชื่นชอบขอบเพื่อนๆ จนนำมาสู่การทำนิทานเล่มแรกชื่อ "แม่ไก่ออกไข่ไม่เป็น" ที่บอกเล่าถึงความสำคัญของการมีเพื่อนจนสามารถช่วยให้แม่ไก่สาวที่ไม่เคยออกไข่มาก่อน สามารถออกไข่ได้
ไม่เพียงเท่านั้นยังพบอีกว่าจินตนาการที่ลูกน้อยสร้างขึ้น ได้ถูกนำมาเขียนเป็นสตอรี่บอร์ดที่สร้างขึ้นเองจากการแบ่งหน้ากระดาษเป็นช่องต่างๆ เพื่อเก็บรายละเอียดของตัวละครโดยที่ไม่เคยเรียนมาก่อน ส่วนพ่อกับแม่ทำหน้าที่เพียงช่วยเก็บเรื่องราวลงในคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาเรียบเรียงให้มีระเบียบมากขึ้นก่อนให้ลูกตรวจทานอีกครั้ง
ด้าน นายณัฐพล เลิศศรีจตุพร บอกว่าเมื่อนิทานสำหรับเด็กเล่มแรกที่ผลิตขึ้นเองได้รับการตอบรับจากเพื่อนของลูก จึงเกิดนิทานเล่มที่ 2 เรื่องมังกรผู้โชคร้าย ที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นว่าเหตุใดมังกรต้องพ่นไฟ ทั้งที่ก่อนหน้านี้.มังกรพ่นน้ำและสุดท้ายก็ไม่มีใครได้เห็นมังกรอีกเลยเพราะหนีไปนอกโลกแล้ว
เช่นเดียวกับเรื่องไดโนฯ ไม่กินผัก ที่ลูกน้อยเขียนในช่วงโควิดระบาดที่คนเอเชียถูกเหยียดหนักมาก ซึ่งน้องโมจิ มีแนวคิดว่าคนเราไม่ควรแบ่งขาวแบ่งดำ จนเป็นที่มาของจินตนาการเรื่องไดโนเสาร์แต่ละเผ่าพันธุ์ที่มีลักษณะการดำรงอยู่ไม่เหมือนกัน และบางพันธุ์ก็กินสายพันธุ์อื่น แต่สุดท้ายทุกสายพันธุ์คือไดโนเสาร์ที่เป็นเพื่อนกันได้
วันนี้ทางครอบครัวได้สนับสนุนผลงานของลูกให้สามารถขายได้ทั่วโลก และมีความเป็นสากลจากการขอ ISBN (International Standard Book Number) หรือเลขรหัสสากลที่กำหนดขึ้นใช้สำหรับสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือจากสำนักงานหอสมุดแห่งชาติ เพื่อความสะดวกและถูกต้องในการควบคุมข้อมูลสิ่งพิมพ์ด้านการสั่งซื้อ การแลกเปลี่ยน เพื่อให้ผลงานได้พัฒนาสู่การเป็นสากล