เลย- ประเทศไทยได้รับการประกาศรับรองอุทยานมรดกแห่งอาเซี่ยนรวมกันเป็น 9 แห่งแล้ว จากเดิมที่มีอยู่ 7 แห่ง โดย 2 แห่งล่าสุด คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง
โดยเฉพาะภูกระดึงมีลักษณะความโดดเด่นที่แตกต่างจากแห่งอื่นคือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายากและสัตว์ป่าคุ้มหลายหลากหลายชนิด
มีรายงานแจ้งว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 ร่วมกับ ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ณ เมืองโบโกร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมี นางพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นตัวแทนประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยในที่ประชุมได้มีการพิจารณารับรองการขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Park: AHP) ของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยได้เสนอและผ่านการพิจารณา 2 แห่ง
ประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยในที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาและเห็นตาม จึงได้ประกาศให้ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวและอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 56 และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เป็นอุทยานมรดกอาเซียนแห่งที่ 57
โดยเฉพาะอุทยานภูกระดึง ลักษณะโดดเด่น ที่เป็นไปตามเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานมรดกอาเซียน มีรายละเอียดที่สำคัญ คือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าตามธรรมชาติมากกว่าร้อยละ 98 และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชพันธุ์หายาก เช่น หญ้าดอกลำโพง ผักชีภูกระดึง กุหลาบขาว กุหลาบแดง เป็นต้น
รวมทั้งมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น เลียงผา ลิ่นชวา เต่าเหลือง ค่างแว่นถิ่นเหนือ ชะนีมือขาว โดยอุทยานแห่งชาติภูกระดึงมีลักษณะเป็นภูเขาหินทรายยอดตัด ที่มีลักษณะโดดเด่นเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในพื้นที่ยังมีกิจกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญคือ กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธเมตตา
ส่วนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ตั้งอยู่บริเวณจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าร้อยละ 96.65 และมีความหลากหลายทางธรณีวิทยาและลักษณะของถ้ำ โดยพื้นที่ที่มีความโดดเด่น เช่น ถ้ำครอบ ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชหายาก เช่น จำปีศรีเมืองไทย กระโถนพระฤๅษี สนสามพันปี รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เช่น แมวลายหินอ่อน เลียงผา เนื้อทราย เสือลายเมฆ และในพื้นที่ยังมีประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ เช่น ประเพณีการแขวนทุง (แขวนธง) ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นต้น
มีรายงานอีกว่า การประกาศรับรองครั้งนี้ทำให้ประเทศไทย มีพื้นที่ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียนรวมเป็น 9 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, กลุ่มอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลันและอ่าวพังงา, กลุ่มป่าแก่งกระจาน ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี, อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม-เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง, อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง และอุทยานแห่งชาติเขาสก