xs
xsm
sm
md
lg

รัฐต้องแก้ “วัตถุดิบอาหารสัตว์”... ก่อนหายนะมาเยือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัญหาเอลนิโญเริ่มปรากฏให้เห็น และมีแนวโน้มลากยาวไป 1-3 ปี เป็นสัญญาณอันตรายว่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร และผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะความแห้งแล้งที่จะเข้ามากดดันให้ปริมาณน้ำขาดแคลน ไม่พอใช้ เมื่อต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นนี้ หากไม่เตรียมพร้อมย่อมส่งผลถึงปริมาณอาหารของมนุษย์ สะเทือนความมั่นคงทางอาหารของประเทศใหญ่

ธนา วรพจน์วิสิทธิ์ เขียนบทความถึงปัญหาวัตถุดิบที่รัฐต้องเร่งแก้ไข สืบเนื่องจากปัญหาเอลนิโญเริ่มปรากฏให้เห็น และมีแนวโน้มลากยาวไป 1-3 ปี เป็นสัญญาณอันตรายว่าพืชพันธุ์ธัญญาหาร และผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะความแห้งแล้งที่จะเข้ามากดดันให้ปริมาณน้ำขาดแคลน ไม่พอใช้ เมื่อต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นนี้ หากไม่เตรียมพร้อมย่อมส่งผลถึงปริมาณอาหารของมนุษย์ สะเทือนความมั่นคงทางอาหารของประเทศใหญ่

เมื่อผนวกปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ล่าสุดรัสเซียปิดทะเลดำอีกครั้ง ทำให้การส่งออกธัญพืชจากยูเครน แหล่งเพาะปลูกพืชอาหารสัตว์แหล่งใหญ่ของโลกต้องหยุดชะงัก ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องตระหนักและเตรียมตัวรับมืออย่างดีที่สุด ด้วยทั้ง 2 เรื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์หายไปจากระบบ และผลักดันให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลกพุ่งสูงขึ้นอีก กระทั่งมีการคาดเดากันว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยที่ปกติแพงอยู่แล้วจะแพงขึ้นอีก หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีอาจทำให้ราคาข้าวโพดพุ่งจาก 12.34 บาท/กก. (ปี 2565) ไปถึง 20 บาท/กก. กลายเป็นหายนะของระบบผลิตอาหารของชาติทันที

ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูซึ่งขาดทุนมาแล้ว 6 เดือน ออกมาเรียกร้องอย่างหนักให้รัฐเร่งแก้ปัญหาต้นทุนการผลิต ซึ่ง 60-70% เป็นต้นทุนจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ เกษตรกรโคนมก็เช่นกัน หลายรายยุติการเลี้ยงโคเพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงสวนทางราคาขาย จนเป็นผลให้น้ำนมดิบพร่องไปจากตลาดถึง 400 ตัน/วัน กระทบไปถึงร้านกาแฟที่หานมสดได้ยากขึ้น นับเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ แต่ส่งสัญญาณเตือนดังๆ ให้เห็นกันแล้วจริงๆ

เชื่อว่าภาครัฐของไทยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้มาตลอด อยู่ที่จะเตรียมตัวเพื่อรับมือสถานการณ์นี้อย่างไร หากตั้งเป้าหมายที่จะรักษาความมั่นคงทางอาหารของประเทศควรต้องเริ่มที่การรักษาผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบให้อยู่รอด โดยเฉพาะผู้ผลิตต้นน้ำ

โรงงานอาหารสัตว์ เป็นต้นน้ำด่านแรกที่ต้องจัดหา “วัตถุดิบอาหารสัตว์” ให้เพียงพอในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อส่งมอบให้เกษตรกรภาคปศุสัตว์ทั่วประเทศ รวมถึงเกษตรกรที่ต้องสรรหาวัตถุดิบมาผสมอาหารสัตว์ด้วยตนเอง ซึ่งล้วนต้องการสินค้าที่ดีมีคุณภาพ และต้องเป็นธัญพืชที่ราคาไม่สูง จนทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุน เพราะอาหารสัตว์ยังถูกควบคุมราคาขายไม่ให้สอดคล้องตามต้นทุนเช่นเดียวกับเกษตรกรภาคปศุสัตว์ ซึ่งหากต้องแบกภาระขาดทุนยาวไปมากกว่านี้ เป็นไปได้ที่โรงงานอาหารสัตว์ขนาดกลางและเล็กต้องเลิกกิจการ และประเทศไทยจะเหลือเพียงผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่มีสายป่านยาวเท่านั้น

ยกตัวอย่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้อยู่ราว 8 ล้านตัน/ปี แต่มีผลผลิตในประเทศเพียง 5 ล้านตัน/ปี ยังขาดถึง 3 ล้านตันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนที่ขาด ขณะที่ที่ผ่านมารัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ช่วยเกษตรกรข้าวโพด 8.50 บาท/กก. แต่ความไม่ชอบมากพากลมันเกิดขึ้นเมื่อรัฐกำหนดราคาขั้นต่ำแล้ว แต่ไม่ปล่อยให้ราคาข้าวโพดขึ้นลงตามราคาตลาดโลก กลับบังคับให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. เพื่อให้เมื่อถึงเวลาข้าวโพดราคาตกต่ำ รัฐจะจ่ายส่วนต่างชดเชยเกษตรกรเพียง 0.50 บาท/กก. เท่ากับบีบให้โรงงานอาหารสัตว์ต้องแบกรับภาระแทนรัฐบาลไปเสียเฉยๆ ทั้งยังมีมาตรการบล็อกการสรรหาวัตถุดิบทดแทนของโรงงานอาหารสัตว์อีกขั้นหนึ่ง ซึ่งคือ มาตรการ 3:1 (บังคับให้ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนก่อนจึงจะนำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) ซึ่งกลายเป็นต้นทุนให้โรงงานอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องแบกภาระ และนำไปสู่ภาวะขาดทุนอย่างที่เป็นอยู่

ซ้ำร้ายกว่านั้น เมื่อข้าวโพดในตลาดโลกขาดแคลนและมีราคาแพง ผู้ขายข้าวโพดยังสามารถส่งออกได้อย่างอิสระ ไม่ต้องสนใจว่าข้าวโพดในประเทศไม่พอใช้ เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง ที่รัฐปล่อยให้นำเข้าประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่จำกัดโควตา โดยที่รัฐมีประกันรายได้ให้ เท่ากับรัฐต้องเสียประโยชน์จ่ายเงินให้มันสำปะหลังต่างชาติอย่างไม่ลืมหูลืมตา นี่ยังไม่นับการนำเข้ากากถั่วเหลือง ที่โรงงานอาหารสัตว์ต้องถูกรีดภาษีอีก 2% ซึ่งไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไหน แต่กลับช่วยให้โรงงานสกัดน้ำมันถั่วเหลือง ขายกากถั่วให้โรงงานอาหารสัตว์ได้ในราคาแพง

เหล่านี้เป็นปัญหาหมักหมมมานาน และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเจอปัจจัยสงครามยูเครนและเอลนิโญ การรับมือสถานการณ์นี้ ด้วยการทบทวนโครงสร้างการบริหารจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์จึงจำเป็นมาก และต้องทำทันที ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกมาตรการ 3:1 การยกเลิกภาษีนำเข้ากากถั่ว หรือใช้แนวทางแก้ปัญหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในส่วนที่ขาดแคลน ด้วยการเร่งจดทะเบียนผู้นำเข้าและจัดสรรโควตาให้แต่ละบริษัทถือครองไว้ โดยให้นำเข้ามาในช่วงที่รัฐกำหนด นอกเหนือจากนี้ให้ถือเป็น “ข้าวโพดเถื่อน” ที่ต้องมีการดำเนินคดีและลงโทษ

การขจัดอุปสรรคที่เกิดขึ้นในประเทศเช่นนี้ จะช่วยบรรเทาสถานการณ์เลวร้ายให้ “ห่วงโซ่การผลิตต้นน้ำ” ยังคงเดินหน้าต่อไปได้หรืออย่างน้อยก็ยืดอายุการล่มสลายของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ออกไป ซึ่งไม่ใช่เพื่อใครแต่เพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงทางอาหารให้คนไทยทุกคน




กำลังโหลดความคิดเห็น