แม่ฮ่องสอน - ชาวแม่สะเรียงเดินหน้าต้านผุดโรงโม่หินกลางป่าชุมชน-ป่าต้นน้ำ ผวาต้องนอนดมฝุ่น-ฟังเสียงระเบิดซ้ำรอยเดิม..จี้ถามป่าไม้ชาวบ้านร่วมฟื้นฟูผืนป่าโรงโม่เก่ามา 20 กว่าปี จนได้รางวัลระดับ จว.กลับขีดเส้นเป็นป่าเสื่อมโทรม-ถามอุตสาหกรรมฯ ขอประทานบัตรกันถูกต้องหรือไม่ วอนผู้ว่าฯ ทบทวน
ชาวแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และผู้คนที่อาศัยอยู่รอบป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้าง รอยต่อระหว่างบ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง ยังคงเคลื่อนไหวคัดค้านการอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่หรือโรงโม่หินให้กับภาคเอกชนที่ขอเข้าทำประโยชน์ และเชื่อว่าจะต้องมีผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในอนาคต แม้ในอดีต 20 กว่าปีที่ผ่านมา พื้นที่บริเวณนี้เคยมีการทำเหมืองมาแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันธรรมชาติได้ฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ที่ชาวบ้านช่วยกันรักษา
ล่าสุด นายทองทิพย์ แก้วใส แกนนำ พร้อมภาคประชาชนชาวแม่สะเรียง เดินหน้าสู้-คัดค้านเต็มสูบในการคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง ซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านโป่งดอยช้าง หมู่ 13 ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ หมู่ 3 ต.แม่สะเรียง อ.แม่สะเรียง รวมตัวเข้าพบนายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา
เพื่อยื่นหนังสือ-ยืนยันเจตนารมณ์คัดค้านประทานบัตรเหมืองแร่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าร่วมรับฟังและรับหนังสือเรียกร้อง
นายทองทิพย์ แก้วใส ตัวแทนภาคประชาชนชาวอำเภอแม่สะเรียง เปิดเผยว่า อดีตเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ป่าบ้านโป่งดอยช้าง เคยเป็นเหมืองเก่า (2540) แต่ปัจจุบันป่าได้รับการดูแลจากชาวบ้าน จนฟื้นคืนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนของบ้านโป่งดอยช้าง ที่ได้ร่วมกันจัดตั้งกฎระเบียบป้องกัน อนุรักษ์ รักษาผืนป่า และเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนมายาวนานตั้งแต่ยกเลิกการทำเหมืองเก่า
และหลังจากการดูแลผืนป่าของชาวบ้านตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ป่าชุมชนบ้านโป่งดอยช้างได้รับรางวัลป่าชุมชนตัวอย่างในระดับจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการประกวดป่าชุมชน โครงการกล้ายิ้ม “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ประจำปี 2553 ซึ่งร่วมขับเคลื่อนโดยกรมป่าไม้ แต่กลับถูกจัดเป็นป่าเสื่อมโทรม
“พวกเรามาพบผู้ว่าฯ อุตสาหกรรมจังหวัด และป่าไม้แม่ฮ่องสอนก็เพื่อติดตามความคืบหน้า หลังได้ยื่นเรื่องคัดค้านว่ามีผลอย่างไรบ้าง ผู้ว่าฯ มีแนวทางช่วยเหลือความเดือดร้อนของคนแม่สะเรียงอย่างไร ถามอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ประเด็นเรื่องการขอประทานบัตรมีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามขั้นตอนระเบียบหรือไม่”
แม้ว่าประชาชนในพื้นที่สัมปทานจะไม่มีพื้นที่ที่มีโฉนดตามหลักเกณฑ์ แต่ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่อาศัยกันยาวนานโดยตรง
ขณะที่ป่าไม้ก็จะถามว่าจริงๆ แล้วพื้นที่ป่าที่ได้รับการประทานบัตรนั้น เป็นป่าเสื่อมโทรมจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พี่น้องประชาชนชาวแม่สะเรียงต้องการที่จะรู้คำตอบ
ทั้งนี้ ชาวแม่สะเรียงได้มีการรวมตัวคัดค้านและยื่นหนังสือผ่านอำเภอแม่สะเรียง มีการเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนการคัดค้านอย่างชัดเจนต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พร้อมกันนี้ ได้มีการทำประชาคม 6 หมู่บ้าน ทั้งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ประกอบด้วย บ้านโป่งดอยช้าง บ้านแพะ บ้านนาคาว บ้านทุ่งพร้าว บ้านท่าข้าม บ้านป่ากล้วย ซึ่งทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน 100% ที่จะคัดค้านการขอประทานเหมืองแร่ในครั้งนี้
สำหรับพื้นที่การขอประทานบัตรนั้น นายทองทิพย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามใบอนุญาตขอทำเหมืองแร่อยู่ในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านโป่งดอยช้าง ต.บ้านกาศ และบ้านแพะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน บนเนื้อที่ 132-0-97 ไร่ เป็นพื้นที่ขอประทานบัตร 1/2565 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง)
โดยทางบริษัทได้ลงพื้นที่พบปะพี่น้องบ้านโป่งดอยช้างครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงใยชาวบ้านในรัศมีการดำเนินการของเหมืองแร่ 500 เมตร ทีมงานวิศวกรเหมืองแร่ของบริษัทฯ ระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ไม่มีแหล่งโบราณคดี หรือแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2 และ 3 บริเวณจุดสัมปทานบัตรกับพื้นที่ชุมชนและตัวอำเภอแม่สะเรียงห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร
ซึ่งชาวบ้านย่อมมีความกังวลผลกระทบที่จะได้รับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลกระทบต่อป่าที่ถูกทำลาย มลพิษทางอากาศ หรือมลพิษทางเสียง แรงสั่นสะเทือนของการระเบิด รัศมีการกระจายของฝุ่นละอองจะสร้างความเดือดร้อนไปทั่วแม่สะเรียงอย่างแน่นอน
ประกอบกับพื้นที่ใกล้จุดประทานบัตร มีส่วนราชการ สถานที่สำคัญ เช่น โรงเรียน วัด โบสถ์ โรงพยาบาล หากมีการอนุญาตประทานบัตรในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ย่อมส่งผลกระทบถึงรุ่นลูกลูกหลาน เหมือนคนแม่สะเรียงต้องตายทั้งเป็น จึงเป็นเรื่องที่ต้องรวมตัวกันคัดค้าน เพื่อไม่ให้เกิดการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอแม่สะเรียงอีกต่อไป
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนเปิดเผยภายหลังจากรับทราบปัญหาจากทุกฝ่าย ว่าทางจังหวัดก็ทราบว่าชาวแม่สะเรียงเองไม่สบายใจเลยเชิญมาพบปะหารือกันตามที่ร้องขอพบกับจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จากกรณีที่มีคนยื่นขอประทานบัตรการทำเหมืองแร่ว่าจะสามารถยุติการดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร
เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ ที่รับเรื่องนั้นก็เป็นไปตามกฎหมาย แต่กระบวนการยังต้องอีกหลายขั้นตอน ทั้งการรับฟังความคิดเห็นประชาชน โดยเฉพาะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม Environmental Impact Assessment (EIA) คือ การศึกษาเพื่อคาดการณ์ผลกระทบ ทั้งในทางบวกและทางลบจากการดำเนินการในพื้นที่ การขอความเห็นชอบจากสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งหากไม่ผ่านขั้นตอนนี้ก็ยากที่จะไปต่อได้
การยื่นหนังสือคัดค้านตามขั้นตอนทางจังหวัดก็ได้รับเรื่องนี้ไว้แล้ว จากนี้ก็ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนพร้อมกับชี้แจงทุกขั้นตอน-ความคืบหน้า ก็จะได้แจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองแห่งความสุข มีทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ที่จะต้องเอาความห่วงใยของประชาชนมาพิจารณา ก่อนที่จะดำเนินการอย่างไรต่อไป