•ทส.เร่งเดินหน้า “โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน” ใช้การลดหย่อนภาษีหนุนเอกชน-ชุมชน ปลูกแล้วได้ “คาร์บอนเครดิต” เพิ่มแรงกระตุ้น
•กรมป่าไม้ สานนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติทางด้านการจัดการป่าไม้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
•คาร์บอนเครดิต วัดแรงจูงใจ และความตระหนัก ESG ของภาคธุรกิจยุคใหม่
ปัจจุบันพื้นที่ป่าของประเทศไทยมีอยู่ 102.4 ล้านไร่ คิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งประเทศ และในอีก 20 ปีข้างหน้า รัฐบาลต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่ หรือเพิ่มขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยศักยภาพของรัฐบาลในการปลูกป่ารวมถึงการดูแลฟื้นฟู และปราบปรามผู้บุกรุกป่า สามารถทำได้เพียง 100,000 ไร่ต่อปีเท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ตามเป้าหมาย
ยุทธศาสตร์โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยปลูกป่า ดูแลและฟื้นฟูป่ามากขึ้นกว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR ปลูกป่า และนำมาสู่การหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ที่ต้องการผู้บริจาคเงินร่วมปลูกป่า ดูแลและฟื้นฟูป่า ผ่านโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน ที่ขณะนี้มีป่าชุมชนขึ้นทะเบียนไว้แล้วกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานนี้ได้ร่วมประชุมหารือกับนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในประเด็น เรื่องมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคประชาชน ที่ลงทุนสนับสนุนการปลูกป่าและอนุรักษ์ป่าไม้ ในพื้นที่ของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเห็นพ้องกันว่ามาตรการลดภาษีดังกล่าว จะเป็นผลประโยชน์ที่ภาคประชาชนได้รับ นอกเหนือจากระเบียบว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ตามประกาศของ ปม. อส. ทช. ที่ได้รับการรับรองจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือโครงการ T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
“ในเบื้องต้นกระทรวงการคลัง รับหลักการไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทั้งนี้หากมาตรการลดหย่อนภาษี จูงใจ ให้คนหันมาปลูกป่ามากขึ้นผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ภาคเอกชนสามารถบริจาคเงินผ่านคณะกรรมการร่วมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับเอกสารรับรองการบริจาคเงิน นำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ ภาคเอกชนที่ร่วมบริจาคยังได้รับใบรับรองการมีส่วนรวมดูแลปัญหาโลกร้อน จาก อบก. ซึ่งช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้แต่ละบริษัทอีกด้วย”
สำหรับเงินบริจาคที่ได้รับก็จะนำมาใช้ในกระบวนการปลูกป่า ดูแลและฟื้นฟูป่าชุมชนตามเป้าหมาย รวมถึงการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อเพิ่มความชุมชื้นและรักษาระบบนิเวศ ถือว่าตอบโจทย์นโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2580 และเจตนารมณ์ของประเทศไทย ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่า ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP 26) ที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่และทุกวิถีทาง ที่จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Greenhouse Gas Emission ภายในปี ค.ศ. 2065
อย่างไรก็ตาม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสนองตามนโยบายดังกล่าว โดยมุ่งสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วน และสิ่งที่ทุกคนสามารถร่วมกันส่งเสริมให้ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนได้อย่างง่าย ๆ คือ การปลูกต้นไม้ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่วิสัยทัศน์ ซึ่งมอบหมายให้กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินมาตรการที่สำคัญประกอบด้วย
1) การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ คทช. (ลุ่มน้ำ 1,2) ป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ และป่าชายเลน เป็นต้น
2) การส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ ได้แก่ พื้นที่ ค.ท.ช. (ลุ่มน้ำ 3,4,5) พื้นที่ป่าไม้ถาวร พื้นที่ ส.ป.ก. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เอกชนที่ดินกรรมสิทธิ์
และ 3) การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท รวมถึงมาตรการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการป้องกันการเผาป่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากศักยภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้ถึง 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ ทส. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน และป้องกันไฟป่า เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและการเสื่อมสภาพของป่า โดยเฉพาะในพื้นที่เขาสูงชันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งมีการดำเนินการให้ครอบคลุมในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าชายเลน ป่าพรุ และในที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ เพื่อเป็นการฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์
ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการนำประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนให้สำเร็จ สามารถร่วมกันปลูกต้นไม้ โดยสามารถติดต่อขอรับกล้าไม้ ได้ที่ส่วนกลาง ณ กรมป่าไม้ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า ส่วนผลิตกล้าไม้ โทร.02-561-4292 ถึง 3 ต่อ 5551 หรือในส่วนภูมิภาคสามารถรับกล้าไม้ ได้ที่ศูนย์หรือสถานีเพาะชำกล้าไม้ในสังกัดกรมป่าไม้ทั่วประเทศ
กรมป่าไม้ “สานแรงจูงใจในการส่งเสริมการปลูกป่า”
ด้านนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติด้านการจัดการป่าไม้ และแรงจูงใจในการส่งเสริมการปลูกป่า นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติทางด้านการจัดการป่าไม้อย่างเป็นรูปธรรม เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ
เช่น การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน การส่งเสริมให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกป่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ร่วมปลูกและฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งภาครัฐ โดยกรมป่าไม้ได้ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การแก้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการปลูกป่า การใช้ประโยชน์ การตัด การแปรรูป ฯลฯ โดยการนำพื้นที่ปลูกป่าต่างๆ นั้นมาเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER ของ อบก.เพื่อนำเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
“มาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นดังกล่าวเป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ที่รัฐบาลกำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ อีกทั้งสอดรับกับ “วันป่าไม้สากล” ในปีนี้ที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดประเด็นหลักของการจัดงาน “Forests and Healt” หมายถึงป่าไม้และสุขภาพ โดยสุขภาพที่สดใสสร้างได้ด้วยป่าไม้ที่สมบูรณ์ เช่น ทำให้น้ำบริสุทธิ์ อากาศบริสุทธิ์ ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น”
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริมในประเด็นเกี่ยวกับการนำแพลตฟอร์ม e-tree เพื่อรองรับการลงทะเบียนการปลูกไม้เศรษฐกิจ ว่าสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถขึ้นที่ดินเป็นสวนป่าตามพระราชบัญญัติสวนป่าได้ และอำนวยความสะดวกประชาชนในด้านบริหารจัดการไม้ในที่ดินและจัดทำหนังสือสำแดงความถูกต้องด้วยตนเอง การตัดและนำเคลื่อนที่ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินสำหรับซื้อขายเป็นรายต้น/ท่อน และแบบน้ำหนัก/ปริมาตร อีกประการหนึ่งการนำแพลตฟอร์มดังกล่าวมาใช้จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ SME ที่จะเข้าร่วมกับกรมป่าไม้ในการลงทะเบียนต้นไม้ซึ่งมีสองระบบ หากจะขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าก็ใช้ระบบสวนป่าออนไลน์ แต่หากไม่สามารถขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่าได้ ก็ให้ใช้ e-tree ซึ่งกรมป่าไม้ส่งเสริมให้ดำเนินการทั้งสองระบบ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา
คาร์บอนเครดิต แรงจูงใจปลูกป่าอย่างยั่งยืน
จุดมุ่งหมายของการสร้างคาร์บอนเครดิต เพื่อให้เกิดการซื้อและขายได้ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ดำเนินกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ต้องหาวิธีการชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยออกมา หนึ่งในวิธีการจัดการคือ การซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ผลิต โดยสามารถหาซื้อเพิ่มเติมจากตลาดคาร์บอนเครดิต ที่เป็นแหล่งรวบรวมผู้ขาย ที่สามารถนำเอาเครดิตส่วนเกินไปเสนอขายได้
ในประเทศไทย ผู้ขายคาร์บอนเครดิตที่มาจากภาคป่าไม้ บางส่วนเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่า เนื่องจากป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี ดังนั้น จึงเกิดการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่จะช่วยเหลือชุมชนให้สามารถได้รับผลตอบแทนจากการดูแลรักษาพื้นที่ป่า ไม่ให้เกิดไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่า
สำหรับความเป็นมาของคาร์บอนเครดิตสืบเนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อน องค์การสหประชาชาติ ได้ดำเนินการจัดการประชุมและร่างสัญญาเพื่อให้ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมมือกันทำตามนโยบายแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน และมีนโยบายที่จะใช้กลไกทางการตลาดเพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาให้ความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น กระทั่ง เป็นจุดเริ่มต้นซื้อขายคาร์บอนเครดิต
ขณะที่ในภาคธุรกิจ คาร์บอนเครดิตเข้ามามีความสำคัญ เปรียบได้ว่าเป็นการให้โควตาภาคอุตสาหกรรมในการปล่อยก๊าซในกระบวนการผลิตเพิ่มจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่ได้รับ สามารถทำการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตเป็นการทดแทนได้ กล่าวคือ คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจยุคใหม่