xs
xsm
sm
md
lg

DITP จับมือ STeP เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการไทย นำร่อง 10 บริษัทต้นแบบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จับมืออุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลักดันสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย พร้อมเสริมศักยภาพ นำร่อง 10 บริษัทต้นแบบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ มุ่งสู่ความยั่งยืน


เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดกิจกรรมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ “Carbon Neutrality Leaders (CNLs)” หรือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่ก้าวนำกระแส เป็นตัวอย่างและต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ ภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน ระยะที่ 2 (BCG to Carbon Neutrality) ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายผลักดันผู้ประกอบการกลุ่ม BCG Heroes ให้สามารถวางแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนในการดำเนินธุรกิจและได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

นายพรวิช ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า โครงการ BCG to Carbon Neutrality phase 2 เป็นโครงการที่กรมได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” เพื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการส่งออก และให้การสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจสีเขียว โดยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย และส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการไทย ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลกด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต


น ส.ประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า เสริมว่า โครงการ BCG to Carbon Neutrality phase 2 เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมสินค้าไลฟ์สไตล์ ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ได้รับองค์ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model และเตรียมความพร้อมเพื่อยื่นขอฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ โดยระยะที่ 1 ในปีที่ผ่านมา ได้เน้นเตรียมความพร้อมด้านการค้า สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงความสำคัญและประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG และธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ และเพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ 2 ในปีนี้ จึงผลักดันผู้ประกอบการ จำนวน 10 ราย ให้ได้รับผลการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ หรือ CFP และเกิดเครือข่าย Carbon Neutrality Leaders (CNLs)

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า STeP กับ DITP ร่วมขับเคลื่อน สนับสนุน และผลักดันผู้ประกอบการทั้ง 10 ราย ให้เป็นผู้ประกอบรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจแบบคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานของอุทยานฯ ที่มีความสามารถในการนำทรัพยากรของมหาวิทยาลัย มาสร้างนวัตกรรมและสร้างคุณค่าในรูปแบบต่างๆ โดยการดำเนินโครงการได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมให้คำปรึกษาและเตรียมความพร้อมในการขอใบรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ พร้อมให้คำแนะนำด้านการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำต่อไป


สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 จำนวน 10 บริษัท ได้แก่ ภาคกลาง 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เทิร์นทูอาร์ต จำกัด บริษัท ดี.ดี.เพเพอร์คัพ จำกัด บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัท นิธินันท์ จำกัด และภาคเหนือ จำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท วาสุ 45 จำกัด บริษัท ซิมพลี เด็ดคอร์ จำกัด บริษัท มูนเลอร์ คอลเลคชั่น จำกัด บริษัท สยามศิลาดล พอตเทอรี่ จำกัด และบริษัท ทรงเสน่ห์ เอ็ม.เจ จำกัด ให้เข้ารับการอบรม 2 หลักสูตร ได้แก่ “CNLs Networking And Brainstorming” และ “ทบทวนและเตรียมความพร้อมสำหรับกระบวนการให้คำปรึกษาเชิงลึก” ต่อด้วยกิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อแนะนำและการวางแผนการลดการปลดปล่อยคาร์บอน และท้ายสุดส่งเสริมให้เกิดการจัดทำแผนธุรกิจด้านการลดคาร์บอน ได้แก่ คู่มือการดำเนินการขอใบรับรอง Carbon footprint ของผลิตภัณฑ์ และ Booklet รวบรวมข้อมูลสินค้า/ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปประกอบการยื่นขอฉลาก Carbon Footprint of Product (CFP) และนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการค้าระหว่างประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น