สุรินทร์ - เปิดใจ “สมโรจน์ คูกิจติเกษม” เจ้าของช้าง “พลายศักดิ์สุรินทร์” และ “พลายศรีณรงค์” ที่น้อมเกล้าฯ ถวายช้างทั้ง 2 เชือกแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพระราชทานแก่ประธานาธิบดีศรีลังกา และส่งมอบเป็นทูตสันถวไมตรีในนามรัฐบาลไทยกับรัฐบาลศรีลังกา เมื่อปี 2544 เผยวันส่งมอบ “พลายศักดิ์สุรินทร์” อายุ 10 ปี เป็นช้างแสนรู้ เชื่อง ฉลาด ผูกพันรักเหมือนลูกหลานและติดตามมาตลอด 22 ปี ภูมิใจได้นำช้างไปรับใช้พุทธศาสนาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศ และดีใจนำกลับมารักษายังบ้านเกิดสำเร็จด้วยดี จากนี้เป็นเรื่องอนาคต ชี้วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญช้างควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี
วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม เจ้าของอาณาจักรช้างพิพิธภัณฑ์ช้าง จ.สุรินทร์ เจ้าของ "พลายศักดิ์สุรินทร์" และ "พลายศรีณรงค์" ซึ่งได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อพระราชทานแก่ประเทศศรีลังกา และรัฐบาลไทยส่งมอบให้รัฐบาลศรีลังกาเป็นทูตสันถวไมตรีอยู่ที่ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2544 จำนวน 2 เชือก พร้อมด้วยนางสาวพัชรพร คูกิจติเกษม ลูกสาว ได้ประกอบพิธีบวงสรวงศาลปะกำ ภายในบ้านเลขที่ 67-71 ถนนปัทมานนท์ เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ เพื่อเป็นการบอกกล่าวและให้การดำเนินการต่างๆ ของ “พลายศักดิ์สุรินทร์” กับการกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทยแผ่นดินเกิดเป็นไปด้วยความราบรื่น
จากนั้นได้เปิดบ้านพักเลขที่ 81 ถนนธนสาร เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเรื่องช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ และ ช้างพลายศรีณรงค์ โดย นายสมโรจน์ คูกิจติเกษม กล่าวว่า ครอบครัว “คูกิจติเกษม” เจ้าของพลายศักดิ์สุรินทร์ ได้น้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2543 และส่งมอบให้ประเทศศรีลังกาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2544 ในนามรัฐบาลไทยกับรัฐบาลศรีลังกา โดยเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญมาก มีเอกสารสำคัญต่างๆ ในการดำเนินการที่เราเก็บไว้ทั้งหมด ตั้งแต่หนังสือจากประธานาธิบดีศรีลังกาทำมาถึงรัฐบาลไทยในสมัยนั้น ซึ่งได้พูดถึงทำอย่างไรจะให้ช้างไปอยู่ที่เมืองโคลัมโบ เพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา โดยมีหนังสือเท้าความมาทั้งหมด
ในสมัยนั้น เมื่อปี 2544 ทางครอบครัวตนเองได้มีความประสงค์ที่จะเป็นตัวแทนชาวสุรินทร์มอบให้ ซึ่งในวันที่ส่งมอบช้างไป มีประชาชนมาร่วมแสดงความยินดีและไว้อาลัยในการจากไปในวันส่งมอบช้างพลายสุรินทร์ไปยังเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และคงไม่ได้กลับมาอีก แต่เราก็ได้มีการติดตามข่าวอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยช้างพลายศักดิ์สุรินทร์ได้รับการดูแลอย่างดีและได้เป็นพาหนะในการแห่ร่วมขบวนในการเฉลิมฉลองความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน โดยนำไปแห่พระเขี้ยวแก้ว และพระบรมสารีริกธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นายสมโรจน์กล่าวต่อว่า ในช่วงจัดหาช้าง ต้องทิ้งช่วงนานพอสมควร จะมีเจ้าหน้าที่ องค์การอุตสาหกรรมป่าไท้ (อ.อ.ป.) และอธิบดีกรมป่าไม้ในสมัยนั้น คือ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ประสานมา ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องมงคล ครอบครัวตนได้มีการพูดคุยกันก็ยินดี จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วพระองค์ได้พระราชทานแก่ประธานาธิบดีประเทศศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาในสมัยนั้น ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา จวบจนปัจจุบัน
และได้กลับมายังบ้านเกิดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2566 รวมเป็นเวลากว่า 22 ปี ขั้นตอนต่างๆ ในการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ กลับบ้านเกิดก็ได้มีการประสานงานกันเป็นปีๆ เช่นกันจึงสำเร็จ ในตอนที่ส่งมอบไป พลายศักดิ์สุรินทร์มีอายุราว 10 ปี โดยเมื่อก่อนได้เลี้ยงพลายศักดิ์สุรินทร์ไว้ที่บ้าน เวลาไปไหนก็จะเดินตาม เป็นช้างแสนรู้ เชื่อง ฉลาด จนถึงทุกวันนี้ ภูมิใจที่ได้นำช้างไปทำประโยชน์ให้แก่รัฐบาลต่อรัฐบาล
การนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาที่บ้านเกิดนั้น ได้มีการประสานกันอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากกลุ่มอนุรักษ์ที่ประเทศศรีลังกาเขาเห็นความไม่เหมาะสมของควาญช้างที่ดูแลรักษา จริงๆ เรื่องของวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างมันแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจเราคือเขาควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เขาขาดความเข้าใจ หลังจากมีการร้องเรียนทางกระทรวงการต่างประเทศก็ทำหนังสือถึงกรมอุทยานแห่งชาติฯ กองไซเตส จากนั้นกองไซเตสก็ประสาน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท่านก็รับลูกประสานนายกรัฐมนตรี แล้วประสานตั้งงบประมาณในการนำช้างกลับมา
ต้องยอมรับว่าในโลกปัจจุบันจะมีกลุ่มคนคอยติดตามการกระทำต่างๆ ของสังคมอยู่ สิ่งไหนไม่ถูกไม่ควรจะมีการร้องเรียน มีการแจ้งข่าวบอกข่าวกัน แล้วนำไปสู่การไปติดตาม และหาต้นตอที่มาของช้างมาจากไหน จนสามารถได้เบอร์โทร.ติดต่อตน จึงให้ข้อมูลและประสบการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับช้าง และได้นำ นายทองสุข และนายวัน มะลิงาม ควาญช้างจาก จ.สุรินทร์ ไปช่วยในเบื้องต้นก่อนตั้งแต่เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ไปดูแลจนมั่นใจแล้ว ทั้งการดูแลรักษา การนำมาจากวัด นำมาอยู่สวนสัตว์แล้วมีสัตวแพทย์ของศรีลังกามารักษาในเบื้องต้นแล้วก็มีสัตวแพทย์จากไทย
“ผมติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ทั้งจาก อ.อ.ป.และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ประสานกันมาโดยตลอด และมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐมนตรีและอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ดำเนินการ จนภารกิจนี้เสร็จสมบูรณ์และปลอดภัย” นายสมโรจน์กล่าว
นายสมโรจน์กล่าวอีกว่า เมื่อถามถึงความรู้สึกที่เห็นช้างกลับมาถึงประเทศไทยนั้น ในใจเราเขาก็เหมือนลูกหลานเราที่เคยอยู่กันมายาวนานในช่วงเด็ก 10 ปีที่ผ่านมา ก็มีความผูกพัน ลึกๆ ก็ดีใจ ตอนไปเราก็ดีใจเพราะไปอยู่ที่ศรีลังกา งานไม่หนัก เป็นงานที่รับใช้พระพุทธศาสนา ไปอยู่ที่วัดหลวงพ่อท่านก็เมตตา ดูแลเป็นอย่างดี และมีคนไทยไปดูเป็นระยะๆ และส่งข่าวบอกข่าวกันมาตลอด แต่พอมาตอนหลังที่เป็นข่าวก็ตกใจทำไมเป็นอย่างนั้นได้ มีการไปติดตามหาสาเหตุที่แท้จริงมันเป็นอย่างไร แต่จริงๆ เป็นประโยชน์มากเราอย่าไปมองแค่ผิวเผิน ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องพุทธศาสนา
“ตั้งแต่พลายศักดิ์สุรินทร์กลับมาถึงเมืองไทยยังไม่ได้ไปพบเลย ต้องรอกักตัวกักโรคให้ครบ 28 วัน ซึ่งจะไปเจออย่างแน่นอน และในฐานะคนสุรินทร์ อยากจะจัดงานบายศรีรับขวัญให้กับเขาด้วย ส่วนอนาคตนั้นก็ตามที่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้พูดไว้แล้วว่า ช้างพลายศักดิ์สุรินทร์เราได้ให้เขาไปแล้ว วันนี้ในมิตรไมตรีที่ดี เราก็ประสานกันนำมาดูแลให้ดีขึ้น ในอนาคตเขาจะรับกลับไปคืน ก็เป็นเรื่องในอนาคตต่อไป” นายสมโรจน์กล่าวในตอนท้าย