xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย “พลายศักดิ์สุรินทร์” ช้างประวัติศาสตร์โลก กว่า 20 ปี จากศรีลังกากลับคืนสู่บ้านเกิดเมืองไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พลายศักดิ์สุรินทร์ เดินทางกลับบ้านเกิด ประเทศไทย 2 ก.ค. 66 นี้ (ภาพจาก : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
2 ก.ค. 66 มีอีกหนึ่งเรื่องน่ายินดี เมื่อ“พลายศักดิ์สุรินทร์” เดินทางกลับประเทศไทย หลังถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกาตั้งแต่ 22 ปีก่อน ซึ่งภายหลังพบว่ามีชีวิตที่ตกระกำลำบาก ไม่ได้รับการดูจนเจ็บป่วยร่างกายทรุดโทรม ก่อนหลายฝ่ายร่วมกันผลักดันทวงคืนพลายศักดิ์สุรินทร์กลับคืนสู่บ้านเกิด พร้อมนำมารักษาตัวเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองไทยอีกครั้ง

พลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรี


ย้อนอดีตไปเมื่อปี พ.ศ. 2544 ประเทศศรีลังกาได้ขอลูกช้างจากประเทศไทย เพื่อนำไปฝึกใช้ในการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของศรีลังกา ที่มีการจัดอย่างต่อเนื่องมากว่า 270 ปี

พิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของศรีลังกาที่จัดสืบทอดมายาวนาน (ภาพจาก : เพจ Embassy of the Democratic Socialist Republic of Sri Lanka in Manila)
ด้วยเหตุนี้ในปีนั้น (2544) รัฐบาลไทยจึงส่งช้าง 2 เชือกไปเป็นทูตสันถวไมตรี ได้แก่ พลายศรีณรงค์ และพลายศักดิ์สุรินทร์ ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2523 ประเทศไทยได้ส่งช้างเชือกแรกไปเป็นทูตสันถวไมตรีให้ศรีลังกา คือ “พลายประตูผา” (ปัจจุบันอายุ 49 ปี)

สำหรับพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ศรีลังกา พลายเชือกนี้เป็น “ช้างเลี้ยง” (ไม่ใช่ช้างป่า) ที่เดิมสมัยอยู่เมืองไทย มีนาย “ทองสุก มะลิงาม” ควาญช้างไทยเป็นเจ้าของผู้ดูแล

พลายศักดิ์สุรินทร์ ทูตสันถวไมตรี ช้างไทยเชือกที่ 3 ที่ถูกส่งไปศรีลังกา (ภาพจาก : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่มีคชลักษณ์โดดเด่นตรงตามความต้องการของศรีลังกาเพื่อใช้ในงานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งหลังจากถูกส่งไปอยู่ศรีลังกา รัฐบาลศรีลังกาได้โอนกรรมสิทธิ์ช้างเชือกนี้ให้กับ “วัดคันเดวิหาร” (Kande Vihara) เป็นผู้รับช่วงดูแลต่อ เพื่อให้ทำหน้าที่ในขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุในงานแห่พระธาตุประจำปีของศรีลังกา ซึ่งมีเฉลี่ย 30 ครั้งต่อปี

ความเป็นอยู่ย่ำแย่


พลายศักดิ์สุรินทร์เดินทางจากเมืองไทยไปอยู่ที่ประเทศศรีลังกาตั้งแต่เป็นลูกช้างอายุไม่ถึง 10 ปี จนวันนี้มีอายุราว 30 ปี ถือเป็นช้างที่มีงาสวยงาม และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหลังจากเดินทางไปศรีลังกาได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “มธุราชา” (Muthu Raja)

พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่มีงาสวยงาม คชลักษณ์โดดเด่น (ภาพจาก : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
อย่างไรก็ดีเรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์หลังจากเดินทางไปอยู่ศรีลังกา ได้หายไปจากการรับรู้ของคนไทยนานนับ 10 ปี

2565 องค์กร “Rally for Animal Rights & Environment” (RARE) ซึ่งเป็นองค์การด้านการพิทักษ์สิทธิสัตว์ในศรีลังกา ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้แรงงานพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ค่อนข้างหนัก ว่าช้างเชือกนี้ไม่ได้รับการดูแล ถูกล่ามโซ่ มีสภาพผอมโซ มีบาดแผลฝีที่สะโพก และขาบาดเจ็บ ควรได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเร่งด่วน

หลังตรวจสอบพบพลายศักดิ์สุรินทร์มีสุขภาพที่ย่ำแย่ จึงมีความเห็นชอบให้ส่งกลับมารักษาที่เมืองไทย (ภาพจาก : เว็บไซต์ กระทรวงการต่างประเทศ)
หลังจากนั้นเรื่องราวของพลายศักดิ์สุรินทร์ได้กลายมาเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและคนไทยในวงกว้าง โดยในเดือน ส.ค. 65 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของพลายศักดิ์สุรินทร์ เดือน ก.ย.65 มีการส่งทีมสัตวแพทย์ไปตรวจสอบสุขภาพของพลายศักดิ์สุรินทร์

ผลจากการตรวจสอบพบว่าพลายศักดิ์สุรินทร์มีปัญหาด้านสุขภาพจริง ควรให้ช้างหยุดการทำงานและส่งตัวกลับมารักษาอาการป่วยที่ประเทศไทย โดยในเดือน พ.ย.65 ได้มีการย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์มาดูแลในเบื้องต้นที่ “สวนสัตว์แห่งชาติศรีลังกา” หรือ “สวนสัตว์เดฮิวาลา” (Dehiwala) กรุงโคลัมโบ

คนไทยจำนวนมากเฝ้ารอการกลับบ้านของพลายศักดิ์สุรินทร์ (ภาพจาก : เพจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
จากนั้นในเดือน ก.พ.66 รัฐบาลศรีลังกาเห็นชอบ ว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ ควรได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน และขอบคุณรัฐบาลไทยในความช่วยเหลือดูแลสุขภาพช้าง โดยเห็นชอบให้นำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมามารักษาอาการเจ็บป่วยที่ประเทศไทย

สำหรับอาการเจ็บป่วยของพลายศักดิ์สุรินทร์ ทำให้คนไทยจำนวนมากอดเป็นห่วงช้างไทย 2 เชือกในศรีลังกา คือ พลายประตูผา และพลายศรีณรงค์ ว่าอาจได้รับการดูแลไม่ดีเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการตรวจสอบของสื่อมวลชนพบว่า พลายศรีณรงค์ได้รับการดูแลค่อนข้างดี ช้างมีสภาพอ้วนท้วนสมบูรณ์ ส่วนพลายประตูผาที่วันนี้ดูชราไปตามอายุขัย แต่ยังคงได้รับการดูแลและมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าพลายศักดิ์สุรินทร์

เดินทางกลับบ้านเกิด

พลายศักดิ์สุรินทร์ฝึกอยู่ในกรงใหม่ก่อนเดินทางกลับไทย (ภาพจาก : เพจ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา)
หลังการประสานจากรัฐบาลไทยที่นำโดย กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนรัฐบาลศรีลังกาไฟเขียวให้นำพลายพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมารักษาตัวที่เมืองไทย บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องต่างก็เดินหน้าในภารกิจนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้าน โดยมีการต่อกรงขึ้นมาพิเศษเพื่อใช้ในการขนย้ายช้าง มีการฝึกซ้อมช้างเดินเข้ากรง พร้อมทั้งมีการส่งควาญช้างไทยจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ไปร่วมฝึกซ้อมทำความคุ้นเคยกับพลายศักดิ์สุรินทร์

สำหรับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้าน จะมีการเคลื่อนย้ายช้างจากสวนสัตว์เดฮิวาลา มายังสนามบินโคลัมโบ ก่อนจะนำช้างขึ้นเครื่องบิน Ilyushin IL-76 (อิลยูชิน อิล-76) เดินทางกลับสู่ประเทศไทย ณ สนามบินเชียงใหม่ ในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 2 ก.ค. 66 จากนั้นจะมีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์ไปดูแลรักษาอาการป่วยที่ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ในวันเดียวกัน

พลายศักดิ์สุรินทร์ฝึกซ้อมที่สวนสัตว์เดฮิวาลา ก่อนเดินทางกลับไทย (ภาพจาก : เพจ TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา)
ทั้งนี้เบื้องต้นทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้ประกาศงดเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน เพื่อเฝ้าระวังและสังเกตอาการ รวมถึงให้ช้างได้พักผ่อนฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงสร้างความคุ้นเคยกับควาญช้างไทย และปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่หลังจากห่างหายไปนานนับสิบปี ซึ่งเมื่อพลายศักดิ์สุรินทร์ทำความคุ้นเคยกับที่อยู่ใหม่ และได้รับการดูแลรักษาจนมีสุขภาพแข็งแรงทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะประกาศเชิญชวนให้คนรักช้างและผู้สนใจได้เข้าเยี่ยมพลายศักดิ์สุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง (แต่จะมีการไลฟ์เรื่องราวการดูแลรักษาพลายศักดิ์สุรินทร์ให้ชมกันเป็นระยะ ๆ ผ่านทาง แฟนเพจ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง The Thai Elephant Conservation Center Lampang)

สำหรับการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับบ้านเกิดประเทศไทย นอกจากจะเป็นข่าวดีของคนไทย และคนรักสัตว์ทั่วโลกแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจประวัติศาสตร์ เพราะนี่เป็นเป็นครั้งที่ 2 ในการขนช้างข้ามประเทศ โดยครั้งแรกเป็นการขนช้างจากปากีสถานไปกัมพูชา

พลายศักดิ์สุรินทร์ถือเป็นหนึ่งในช้างเชือกประวัติศาสตร์ของโลก (ภาพจาก : เว็บไซต์ กระทรวงการต่างประเทศ)
ขณะที่พลายศักดิ์สุรินทร์ถือเป็นหนึ่งในช้างเชือกประวัติศาสตร์ของโลก ซึ่งนาย “พลเดช วรฉัตร” อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชน (ไทยพีบีเอส) ว่า

“พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นประวัติศาสตร์ของโลก ที่ส่งช้างข้ามประเทศในนาม ทูตสันถวไมตรีแล้วแล้วส่งกลับมา ส่วนช้างที่เหลือ 2 เชือก ยังต้องถูกใช้งานแบบพลายศักดิ์สุรินทร์ แต่ตราบใดที่ดูแลดี สุขภาพดีไม่มีปัญหา ก็คงไม่ต้องกลับมา”

ไทม์ไลน์พลายศักดิ์สุรินทร์ตั้งแต่ไปอยู่ศรีลังกาจนเดินทางกลับไทย (ภาพจาก : เพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)




กำลังโหลดความคิดเห็น