ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายงดส่งน้ำลงคลองทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา
หลังเขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำกักเก็บแค่ร้อยละ 32 ซ้ำยังต้องเผชิญกับปรากฏการณ์แอลนีโญฝนอาจทิ้งช่วงอีกนาน ย้ำเกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานทั้งในขอนแก่นและมหาสารคามใช้น้ำอย่างประหยัด
นายณัฐวรรธน์ ถิระวณิชยางกูล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย เปิดเผยว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายเป็นฝายที่รับน้ำมาจากเขื่อนอุบลรัตน์ มาบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยจะมีคลองฝั่งซ้ายและคลองฝั่งขวาส่งน้ำไปยังพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรมากกว่า 400,000 ไร่ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บไม่ถึง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่าง โดยมีน้ำใช้การได้จริง 193 ล้านลูกบาศก์เมตร ทางโครงการฯ จึงได้นัดประชุมหารือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ และเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน
ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าขณะนี้ทางโครงการฯ ไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้ จะจ่ายน้ำให้กับการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งรักษาระบบนิเวศของลำน้ำพองเท่านั้น หากกรณีที่เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทางโครงการจะมีการส่งน้ำเพื่อหนุนเสริมกับน้ำฝนในกรณีที่ฝนทิ้งช่วง ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผน 5 มาตรการในปี 2566 ในช่วงฤดูฝน คือ การจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนโดยใช้น้ำฝนเป็นหลัก, บริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด, กักเก็บน้ำในเขื่อนให้มากที่สุด และมาตรการสุดท้ายคือ การวางแผนหากเกิดอุทกภัย
นายณัฐวรรธน์กล่าวต่อว่า สำหรับในพื้นที่โครงการฯ ได้วางแผนแจกจ่ายน้ำให้ประชาชนที่ทำการเพาะปลูก ขณะนี้มีการลงมือปลูกพืชส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปี 2.6 แสนไร่ ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ อำเภอน้ำพอง อำเภอซำสูง อำเภอเมืองขอนแก่น และอำเภอเชียงยืน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ดังนั้นจึงอยากจะฝากไปยังเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปี ขอให้ประเมินพื้นที่การปลูก โดยดูปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ที่สำคัญต้องช่วยกันประหยัดน้ำ ทั้งน้ำอุปโภคและบริโภค เพราะเนื่องจากปีนี้จะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ ที่จะทำให้ฝนตกน้อยกว่าค่ามาตรฐาน