น่าน - เยาวชนมละบรียกระดับภูมิปัญญาจากในป่าสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ “ญอกมละบริน่าน” ได้ตั๋ว GI หนุนหัตถกรรมชาติพันธุ์-คนกับป่า เดินหน้าขายออนไลน์เต็มที่ ล่าสุดห้างเซ็นทรัล ส่งแบบ-ลายใหม่ทดลองผลิต ปูทางทำตลาดร่วมสมัย
“เลฮ มา ซือ ญอก คอง มละ เซิม” แปลได้ว่า “เชิญมาอุดหนุนย่ามของมละบรีนะ” เป็นเสียงเชิญชวนด้วยภาษามละบริ ของเยาวชนชาติพันธุ์มละบรี หรือมลาบรี หมู่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ทำให้สะท้อนและมองเห็นงานด้านหัตถกรรมของชาติพันธุ์ ที่ส่งผ่านมาทางสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย เพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหาย
เฉกเช่นเดียวกับ ญอก มละบรี หรือถุงย่าม ที่ใช้วัสดุเถาวัลย์ หรือที่เรียกด้วยภาษามละบรีว่า “ทะแปด” ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เรียนรู้ว่าเถาวัลย์ชนิดนี้มีอยู่ในป่า มีความเหนียวและทนทาน ด้วยชนชาติพันธุ์มละบรีต้องหาของป่า และโยกย้ายถิ่นอาศัย จำเป็นต้องใช้ย่ามเพื่อใส่สิ่งของต่างๆ แม้ปัจจุบันมละบรีจะไม่ต้องย้ายที่อยู่อาศัย และปักหลักเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์แล้ว แต่ย่ามมละบรีก็ยังคงอยู่ในวิถีชีวิต ลูกหลานชนเผ่าจะยังคงได้เห็นและสัมผัสรับรู้ถึงงานหัตถกรรมประจำชาติพันธุ์
"ภูมิใจที่เกิดมาเป็นมละบรี งานถักย่ามก็เป็นสิ่งที่อยากเรียนรู้มาตั้งแต่แรก รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่มีส่วนรักษาและเผยแพร่ภูมิปัญญาของมละบรี" คำบอกเล่าที่มุ่งมั่นและหนักแน่นของนางสาวคนิตา ศรีชาวป่า หรือน้องอั้ม ซึ่งได้เล่าว่าตั้งแต่เด็กก็เห็นและรู้จักญอก หรือถุงย่ามเถาวัลย์ คุ้นชินผูกพันเพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของมละบรี และเริ่มอยากหัดตัดเถาวัลย์ รวมตัวกับเพื่อนๆ พาไปตัดเถาวัลย์ในป่า โดยมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคอยสอน
ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่อดทนเพราะเป็นทักษะที่ต้องการเรียนรู้ ทั้งเรื่องตัดเถาวัลย์ที่เหมาะสมไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เพราะจะทำให้ย่ามขาดง่ายไม่คงทน ต้องฝึกเรื่องจับมีด วางมีด เพื่อขูดเส้นเถาวัลย์ให้เป็นสีขาว และการย้อมสีจากธรรมชาติ ต้องเรียนรู้ชนิดของใบไม้ที่จะให้สีต่างๆ ชนิดไหนใช้ได้หรือไม่ได้
“พอได้เรียนรู้เรื่องการหาเถาวัลย์และใบไม้จากในป่า ก็เริ่มเรียนรู้การถัก ซึ่งเรียนรู้จากคุณแม่เรื่องการฟั่นเชือกเถาวัลย์ด้วยหน้าแข้งให้เป็นเส้น และเรียนรู้จากคุณยายเรื่องการถัก ซึ่งเป็นการถักแบบวน ทำให้ถุงย่ามเกิดเป็นปมเกาะเกี่ยวและมีความแข็งแรงทนทาน ภูมิปัญญาทั้งหมดถ่ายทอดและสอนกันจากรุ่นสู่รุ่น แม่สอนลูกสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านก็คอยสอนให้กับเยาวชนรุ่นหลังให้เรียนรู้และสืบทอดไม่ให้เลือนหายไปจากวิถีชีวิตมละบรี”
นางสาวสุรีย์ ชาวพนาไพร หรือน้องสุ เยาวชนมละบรี ซึ่งเป็นเยาวชนแกนหลักในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ ทำหน้าที่โพสต์สินค้า พูดคุยและปิดการขาย เล่าว่า กลุ่มผู้หญิงได้รวมตัวกันเพื่อทำญอกมละบรีจากรูปแบบดั้งเดิม หลังจากมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ มาช่วยสอนก็ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ที่สวยงามและน่ารัก ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น ทำให้สินค้าดูดีขึ้น มีการสร้างจุดแข็งจุดขาย เช่น คุณสมบัติที่คงทน ลายที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) ซึ่งสามารถสร้างสตอรีเพื่อสร้างแบรนด์
และมีการสอนให้ไลฟ์สดเพื่อการตลาดออนไลน์ สร้างแฟนเพจเพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นช่องทางการขาย ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น แล้วก็ฝึกถ่ายรูปสินค้าและโพสต์ขายออนไลน์ มียอดขาย มีรายได้ และยังรู้สึกภูมิใจที่เราเป็นเยาวชนมละบรี ที่สามารถเรียนรู้การผลิตและการขายสินค้า สร้างอาชีพด้วยงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาติพันธุ์
นางอรัญวา ชาวพนาไพร ผู้นำชุมชนมละบรีภูฟ้า หมู่ที่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านมละบรีต้องออกไปทำงานรับจ้าง จึงอยากมองหาช่องทางและโอกาสสร้างรายได้อื่น ซึ่งด้วยทักษะถักญอก จึงมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นสินค้าให้กับกลุ่มแม่บ้าน โดยญอกมละบรีมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เป็นชิ้นงานเดียวที่มีในโลก แต่ละครั้งที่ถักจะไม่สามารถทำให้เหมือนกันได้เลย มีความเหนียวทนทาน สีธรรมชาติ เป็นจุดแข็งที่สามารถทำการตลาดได้ ส่วนเถาวัลย์ที่ไปตัดในป่า จะเลือกเฉพาะส่วนที่พอดี ถ้าอ่อนหรือแก่เกินไปจะทำให้ขาดง่าย เราจะปล่อยให้ต้นแก่ได้งอกใหม่ ส่วนต้นอ่อนก็ปล่อยให้เติบโต และจะเก็บได้มากเฉพาะในช่วงฤดูฝน การเก็บเถาวัลย์ในป่าเพื่อนำมาถักญอกมีข้อจำกัดมาก จึงไม่ได้เป็นการทำลายป่า และมละบรีก็ให้ความสำคัญต่อเรื่องเถาวัลย์มาก เพราะถ้าไม่มีเถาวัลย์ก็จะไม่มีการถักญอก
ทั้งนี้ กลุ่มแม่บ้านจะมารวมตัวกันถักญอกที่ศูนย์วัฒนธรรมมละบริภูฟ้าเพื่อขายมีรายได้ และได้ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพมละบริอำเภอบ่อเกลือ ปี 2562 พอมีผลิตภัณฑ์เริ่มขายได้ ลูกหลานก็มาช่วยทำ ขายได้แม่ก็แบ่งเงินให้
“ญอก” กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับครอบครัว แม่ลูกได้คุยกันสอนกัน หลังจากนั้นเด็กๆ เยาวชน ก็อยากเริ่มหัดตัดเถาวัลย์ ถักญอก อยากมีรายได้บ้าง เราก็แบ่งงานให้ทำ ทั้งตัดเถาวัลย์มาขายให้กลุ่ม หรือถักเป็นกระเป๋า และก็ได้เงินเป็นรายได้ จากเริ่มต้นมีเด็กมาขอร่วมกลุ่มแค่ 4 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 คน จากกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ของมละบริ เป็นหญิง 8 คน และชาย 9 คน รวม 17 คน
การพัฒนากระเป๋าญอกมละบริ ส่วนหนึ่งเกิดจากที่เด็กๆ นำรูปภาพกระเป๋าต่างๆ มาถามกลุ่มแม่บ้านว่า แบบนี้ถักได้ไหม ทำได้ไหม มาช่วยแนะนำ ช่วยออกแบบและให้ทดลองถัก ทำให้เกิดกระเป๋ารูปแบบต่างๆ และสินค้ารูปแบบอื่นๆ เช่น ต่างหู สร้อยแขน สายห้อยคล้องคอ หมวก ที่ขายดีเป็นกระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่โทรศัพท์ กระเป๋าตาห่าง แต่ยังคงอัตลักษณ์และลวดลายที่มีความเฉพาะของมละบรี การใช้วัสดุทั้งหมดด้วยธรรมชาติ ลักษณะเฉพาะไม่มีที่ไหน
กระทั่งได้สมัครขอตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ มากมาย จน "ญอกมละบริน่าน" ได้รับตราสัญลักษณ์ GI เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 และหลังจากได้การรับรองทำให้กระเป๋าญอกมละบริได้รับความสนใจ คนในหมู่บ้านก็หันมาให้ความสำคัญ เกิดความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของมละบรี ตลาดภายนอกได้เห็นและให้ความสนใจ
ล่าสุดขณะนี้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้นำรูปแบบลวดลายการถักและการใช้วัสดุอื่นมาประกอบชิ้นงานเพื่อให้กลุ่มได้ทดลองทำ ซึ่งน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาตรงกับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วย ก็ถือว่าเป็นการรักษาภูมิปัญญา เด็กๆ รุ่นต่อไปเห็นคุณค่าเกิดแรงบันดาลใจที่อยากเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่อชาติพันธุ์มละบรี และต้องการให้ชนชาติพันธุ์ของตัวเองมีของดี เหมือนชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีงานผ้าปัก ผ้าเขียนเทียน งานเครื่องเงิน และงานหัตถกรรม
“งานถักกระเป๋าญอกมละบรี ไม่ใช่เพียงแต่เป็นงานหัตถกรรมเพื่อการใช้งานหรือเป็นสินค้า แต่คือสิ่งที่เชื่อมโยงคนทุกวัยและป่าที่อาศัยเกื้อกูลกัน สร้างคุณค่าความภูมิใจในความเป็นชนชาติพันธุ์ของลูกหลานมละบริรุ่นต่อๆ ไปด้วย”
นางนิภารัตน์ ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน กล่าวว่า การส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ของชาติพันธุ์เพื่อสร้างมูลค่า สร้างอาชีพและรายได้ โดยได้ร่วมกับศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ สอนให้ทางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมให้เป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ลูกค้าทุกช่วงวัยสามารถจับต้องได้ ใช้ระยะเวลาในการผลิตน้อยลง จำหน่ายได้ง่าย ช่วยปรับปรุงเศรษฐกิจของชุมชน
ที่ผ่านมาได้ร่วมกับสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท.6 นำผลิตภัณฑ์กระเป๋าญอกมละบรีไปร่วมออกบูทแสดงและจำหน่ายในกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้เรื่องราวของกระเป๋าญอกมละบริและจำหน่ายสินค้าได้ รวมทั้งบริษัท plan international จัดโครงการพัฒนาเยาวชนชนเผ่าสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพิ่มขีดความสามารถให้กับเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พัฒนาทักษะทางด้านอาชีพและรายได้ ได้มีการออกแบบกระบวนการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การออกแบบและอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการตลาด หลังจากนี้ก็จะเชื่อมความร่วมมือเพื่อการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์กระเป๋ามละบริอย่างต่อเนื่อง