xs
xsm
sm
md
lg

มข.โชว์นวัตกรรมอัจฉริยะ หุ่น CPR ยางพาราช่วยฝึกทักษะฟื้นคืนชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มข.จับมือ บจก.เอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ เปิดตัวหุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ นวัตกรรมฟื้นคืนชีพ นำหุ่น CPR ยางพาราติดตั้งไว้ในที่สาธารณะ หวังให้บุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้และฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพจากหุ่น CPR ยางพาราที่ใดก็ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับ บริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด แถลงข่าวการถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญามหาวิทยาลัยขอนแก่น “นวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ” CPRobot: หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และ ฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ


โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด, รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์, ผศ.นพ.ศุภฤทธิ์ ศิลารัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมประชุม

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “นวัตกรรมเพื่อชีวิต หุ่น CPR ยางพาราอัจฉริยะ" CPRobot: หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพนี้ ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมด้าน Health AI ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป สามารถผลักดันนวัตกรรมนี้เพื่อช่วยสังคม การต่อยอดเชิงนโยบายสุขภาพต่อไป

ขณะที่ รศ.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า “เป้าหมายของการสร้างหุ่น CPRobot คือ ทำให้บุคคลทั่วไป สามารถเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพที่ใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ฝึกสอน โดยสามารถวางหุ่น CPRobot ในที่สาธารณะสามารถเข้าถึงได้ง่าย เช่น โรงเรียน อบต. สถานีขนส่ง เป็นต้น ทำให้ผู้คนสามารถเรียนรู้ และฝึกทักษะตนเองจนเกิดความมั่นใจที่จะสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปเป็นเครื่องมือฝึกสอนสำหรับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ เช่น โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์ฝึกทหาร เทศบาล ฯลฯ

ด้าน ผศ.สายยัญ สายยศ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “คณะวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ของศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการให้องค์ความรู้ด้าน CPR หุ่น CPRobot ถูกคิดค้นและพัฒนาด้วยแนวความคิดที่ว่า ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีผสานกับการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ จึงเลือกใช้ยางพาราเป็นหุ่นต้นแบบ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศูนย์การเรียนรู้จากยางพาราจังหวัดขอนแก่น

สำหรับการทำโมเดลหุ่นเพื่อทดสอบรุ่นแรก หุ่น CPRobot ถูกคิดค้นพัฒนาทั้งทางด้านซอฟต์แวร์ และคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ ซึ่งประมวลผลใน Single-board Computer ขนาดเล็ก เพื่อความสามารถในการประมวลที่ชาญฉลาด และรองรับความต้องการในอนาคต และทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตรวจจับแรงกดที่ทางทีมพัฒนาขึ้น

นอกจากนี้ ด้านซอฟต์แวร์ มีการคิดค้นอัลกอริทึม กระบวนการวิเคราะห์สัญญาณ (Signal Processing) และการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อความสามารถในการโต้ตอบ และตอบสนองต่อผู้ใช้งานได้อย่างอัตโนมัติและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ CPRobot มีขีดความสามารถในการรองรับการประมวลผลที่หลากหลาย ตามความต้องการของตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลงานชิ้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์จากวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และองค์ความรู้ที่สำคัญจากบุคลากรทางการแพทย์




ขณะที่ รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวช ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า การช่วยฟื้นคืนชีพ หรือ CPR ไม่ใช่เป็นหน้าที่เฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ การช่วยฟื้นคืนชีพที่รวดเร็วในขณะที่เกิดหัวใจหยุดเต้นทันทีในที่เกิดเหตุมีความสำคัญต่อผู้ป่วยอย่างยิ่ง อย่างที่ทราบกันดีว่าสมองสามารถทนการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียง 4 นาที ดังนั้นการที่จะทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้ทัน ในช่วงเวลานี้ถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวด

การทำ CPR ในที่เกิดเหตุเป็นไปไม่ได้ที่จะรอแพทย์พยาบาล ต้องอาศัยคนในชุมชน นักเรียน นักศึกษา นักบวช หรือใครก็ตามในการเริ่มทำ CPR ดังนั้นการสอนให้ประชาชนสามารถทำ CPR ได้ ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะสร้างสังคมแห่งความปลอดภัยขึ้นมาได้ แต่เนื่องจากการเรียนการสอน CPR ต้องทำโดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ รวมถึงต้องมีการฝึกฝนอยู่อย่างสม่ำเสมอ จึงทำให้การเรียนการสอน CPR ยังไม่เพียงพอสำหรับประชาชนไทย

การเกิดการสร้างนวัตกรรมหุ่น CPRobot : หุ่น CPR อัจฉริยะสำหรับเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ จะทำให้เกิดการเรียน การฝึกฝนในการทำ CPR ให้แพร่หลาย ก่อให้เกิดสังคมที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น หวังว่านวัตกรรมนี้จะนำไปสู่การที่ประชาชนสามารถที่จะ CPR ได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่จะเกิดสังคมที่ปลอดภัยต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และคณะแพทยศาสตร์ จะต่อยอดนำไปฝึกอบรมการทำ CPR ให้แก่นักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และโรงเรียนรอบข้าง ในจังหวัดขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้านนายอำนาจ เกิดอนันต์ กรรมการบริษัทเอเอ็ม หุ่นซีพีอาร์ จำกัด กล่าวว่า “ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การช่วยเหลือชีวิตประชาชนจากการขาดอากาศหายใจนั้นมีจำนวนเพิ่มขี้น การทำซีพีอาร์นั้นมีการถ่ายทอดวิธีปฏิบัติ และวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือชีวิตประชาชนนั้นยังไม่แพร่หลายมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการขาดอากาศในการหายใจเพิ่มขึ้นทุกวันกับประชาชนทั่วไป และบุคคลที่มีชื่อเสียง

ดังนั้น นักศึกษาและคณะวิชาการหลายๆ คณะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ร่วมกันคิดค้น นวัตกรรมหุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ ซึ่งประกอบไปด้วยซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์อยู่ในหุ่นซีพีอาร์ตัวเดียวกัน นำออกมาเพื่อเผยแพร่ในการให้ความช่วยเหลือชีวิตแก่ประชาชนได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากอาการดังกล่าว โดยมีบริษัท เอเอ็ม หุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ นำนวัตกรรมนี้มาพัฒนาและต่อยอดและสื่อสารให้กับประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้รับรู้ว่า


ปัจจุบันมีนวัตกรรมอันล้ำเลิศของมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกสู่สายตาและการรับรู้ของประชาชนว่า พวกท่านเหล่านั้นสามารถเรียนรู้วิธีปฏิบัติในการช่วยเหลือและกู้ชีพคนได้อย่างถูกต้องในการทำซีพีอาร์เพื่อช่วยชีวิตคน บริษัท เอเอ็มหุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ส่งต่อผลงานวิจัยนี้ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ากับชีวิตของประชาชนคนไทยและต่างประเทศ

บริษัทขอขอบคุณทีมผู้บริหารและทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ช่วยสนับสนุน หลังจากนี้จะได้ร่วมมือพัฒนานวัตกรรม หุ่นกู้ชีพซีพีอาร์ ให้ล้ำหน้าไปกว่าเดิม และผลักดันออกสู่ตลาด เพื่อที่ประชาชนจะได้รับรู้ว่า นวัตกรรมของคนไทย และของมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น