xs
xsm
sm
md
lg

เปิดศูนย์ฝึกอบรมฟื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน ณ โรงพยาบาลสกลนคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานเปิดศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน ที่โรงพยาบาลสกลนคร
สกลนคร - เปิดศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน ที่โรงพยาบาลสกลนคร เผยเป็นศูนย์ได้มาตรฐานสากล 1 ใน 2 ของภาคอีสาน พร้อมทุ่มซื้ออุปกรณ์การฝึกราคาสูง มุ่งฝึกอบรมพื้นคืนชีพขั้นสูงให้แพทย์ พยาบาล ทั้งออกใบรับรองตามมาตรฐานการช่วยชีวิต (Certification)


วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ชั้น 5 ตึกหัวใจเพื่อแผ่นดิน โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร นายแพทย์จรัญ จันทมัตตุการ สาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 8 เป็นประธานเปิดศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน โดยมีนายแพทย์สมโภช ธีระกุลภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร พร้อมด้วยแพทย์ นายแพทย์สสจ.สกลนคร ผอ.และหัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รพ.นครพนม บึงกาฬ เลย อุดรธานี หนองคาย และหนองบัวลำภู ร่วมในพิธีเปิด

โดยศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นคืนชีพ เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกการฟื้นช่วยพื้นคืนชีพ ตามมาตรฐานสากลแห่งแรก และแห่งเดียวของเขตบริการสุขภาพที่ 8 และเป็น 1 ใน 2 แห่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถออกใบรับรองตามมาตรฐานการช่วยชีวิตได้ (Certification)

ทั้งนี้ ในประเทศไทยสามารถเปิดศูนย์ฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐานสากลได้น้อยมาก เนื่องจากต้องมีทีมแพทย์ และพยาบาลที่ผ่านการอบรมหลักสูตรครูผู้สอนตามมาตรฐานสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart association) การลงทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ และการจัดตั้งศูนย์ค่อนข้างสูง เช่น หุ่นอุปกรณ์การฝึกที่สามารถตอบสนองการฝึกสอนเสมือนชีวิตจริงราคาสูง หุ่นละประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเปิดศูนย์ฝึกได้เฉพาะที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงไม่สามารถรองรับความต้องการในการพัฒนาแพทย์ พยาบาล และรองรับหลักสูตรการเรียนการสอนได้

ศูนย์ฝึกอบรมการฟื้นคืนชีพ หัวใจเพื่อแผ่นดิน เป็นศูนย์ฝึกอบรมการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐานจากสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heartassociation) จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับการเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์ และทางการพยาบาล (Academic) ของเขตบริการสุขภาพที่ 8 และเขตใกล้เคียง โดยสามารถเปิดหลักสูตรฝึกอบรมการช่วยพื้นคืนชีพขั้นสูงให้แพทย์ พยาบาล และได้รับการประกาศนียบัตรรับรอง 2 ปี (Provider Advanced Cardiovascular Life Support) นอกจากนี้ ยังเปิดฝึกอบรมทักษะการช่วยเหลือ (First AID) การช่วยฟื้นคืนชีพชั้นพื้นฐาน (Basic Life Support) และการใช้กระตุกหัวใจ (AED) ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป




ศูนย์ฝึกปฏิบัติการช่วยพื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน ได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์เจษฎา ทิวังกโร เจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์ และคณะศิษยานุศิษย์ร่วมก่อสร้างห้องประชุมสำหรับศูนย์ฝึก และเมตตาใช้ชื่อว่า "ศูนย์ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ หัวใจเพื่อแผ่นดิน" และให้ชื่อห้องประชุมว่า "ห้องประชุมสิริรัตน์" และได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา จัดซื้อหุ่นจำลอง และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ จำนวน 6 ล้านบาท มีนายแพทย์ขชล ศรียายาง อายุรแพทย์โรคหัวใจ แพทย์หญิงภามณี สายเหมย วิสัญญีแพทย์ และ น.ส.ทัศนีย์ แดขุนทด พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้าหอบำบัดวิกฤตโรคหัวใจ เป็นผู้ริเริ่มและรับผิดชอบบริหารจัดการศูนย์ฝึก

ศูนย์ฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพหัวใจเพื่อแผ่นดิน จะเปิดฝึกอบรมอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ครั้งแรกเป็นหลักสูตรสำหรับครูผู้สอน (Instructor) ซึ่งมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 32 คน เป็นแพทย์ 6 คน และพยาบาลวิชาชีพ 26 คน ซึ่งได้ความกรุณาจากนายแพทย์เข็มชาติ หวังทวีทรัพย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการด้านวิชาการการฝึกอบรมปฏิบัติการช่วยชีวิต มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะอาจารย์จากศูนย์ฝึกปฏิบัติทักษะระบบจำลอง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และสถาบันประสาทวิทยา


เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมหลักสูตรสำหรับครูผู้สอนแล้ว จะทำการฝึกอบรมให้แพทย์ พยาบาล ในหน่วยงานที่เสี่ยงสูง ที่ให้บริการผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรืออาการรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง ฝึกอบรมให้แพทย์ที่ต้องการใบรับรองการช่วยฟื้นคืนชีพตามมาตรฐาน และพยาบาลผู้เข้าอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง 4 เดือน จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น