กาญจนบุรี - ประมง อ.ทองผาภูมิ เก็บตัวอย่างปูป่า บ้านขนุนคลี่ พิสูจน์หาสายพันธุ์ที่แท้จริง เบื้องต้นพบสีต่างกันหลายจุด คาดเป็นปูสายพันธุ์ใหม่
จากกรณีนายจีรพันธ์ ขันแก้ว อายุ 48 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี อาชีพเกษตรกรชาวสวนยางบ้านขนุนคลี่ หมู่ 4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าของเฟซบุ๊ก Gee Khunkaew และ Tik Tok:@ geekhunkaew เผยแพร่คลิปวิดีโอและภาพนิ่งของปูป่าสีสันสวยงาม ที่มีพฤติกรรมธรรมชาติน่าเอ็นดู ทั้งการเคลื่อนไหวด้วยการเดินและวิ่งลงรูในน้ำ สร้างความสนใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น พร้อมทั้งให้ข้อมูลของปูว่า น่าจะเป็นปูทูลกระหม่อมบ้าง ปูเจ้าฟ้าบ้าง ปูราชินีบ้าง จุดประสงค์เพื่อต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาข้อมูลเพื่อยืนยันสายพันธุ์ นำไปสู่การอนุรักษ์ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด นายจีรพันธ์ ขันแก้ว ได้นำพานายไพศาล รัตนา นักวิชาการเจ้าพนักงานประมงชำนาญการ ประมงอำเภอทองผาภูมิ เดินทางไปสำรวจแหล่งที่อยู่ของปูป่าที่อยู่ภายในสวนยางพาราของนายจีรพันธ์ ที่ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านขนุนคลี่ หมู่ 4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ เมื่อไปถึงพบสวนยางพารามีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่เศษ ภายในสวนมีสภาพป่าพรุที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำซับตลอดทั้งปี และยังมีต้นเตย ต้นเต่าร้าง ต้นหวายป่า และพืชจำพวกเฟิร์นขึ้นอยู่เต็มพื้นที่
จากการเดินสำรวจพบรูปูกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ บางรูพบตัวปูอยู่ที่ปากรู แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ หวังถ่ายภาพ ปูก็ตกใจแล้ววิ่งหลบเข้าไปในรูปู ทำให้ไม่สามารถถ่ายภาพได้ ทำให้นายจีรพันธ์ และนายไพศาล ตัดสินใจขุดเอาปูขึ้นมาจากรูเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างส่งไปให้นักวิชาการกรมประมง ทำการตรวจพิสูจน์หาสายพันธุ์ จำนวน 4 ตัว
ทั้งนี้ นายไพศาล รัตนา ประมงอำเภอทองผาภูมิ เปิดเผยว่า เบื้องต้นปูที่พบในพื้นที่แห่งนี้มีลักษณะใกล้เคียงปูทูลกระหม่อม แต่ยังมีจุดที่แตกต่างหลายจุด เช่น บริเวณปลายขาของปูทูลกระหม่อมจะเป็นสีขาวทั้ง 4 คู่ แต่ปูที่พบกลับเป็นสีส้ม และหน้าท้องปูทูลกระหม่อมจะเป็นสีส้มเข้ม แต่ปูที่พบหน้าท้องมีสีขาว บริเวณก้ามของปูทูลกระหม่อมจะมีจุดสีแดงเข้ม แต่ปูที่นี่ไม่มี จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นปูสายพันธุ์ใหม่
นายจีรพันธ์ ขันแก้ว เปิดเผยว่า ตนมีความสนใจและหลงรักปูป่าพบมานานกว่า 8 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นปูที่มีสีสันสวยงาม และปูมีพฤติกรรมที่น่าสนใจ เช่น เวลาเจอคนมันจะชูก้ามขู่เพื่อป้องกันตัว ในอดีตพบปูชนิดนี้ได้ทั่วไปในพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันปูที่พบเริ่มมีจำนวนลดลง เนื่องจากการทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีและเครื่องจักรแทนแรงงานมนุษย์ ตนจึงได้ตัดสินใจเก็บพื้นที่ป่าในสวนยางจำนวนกว่า 7 ไร่เอาไว้เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปู ซึ่งปกติในวันที่ฝนตกชุกจนน้ำท่วมรู ปูจะออกจากรูมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน จึงเป็นช่วงเวลาที่จะพบปูได้เป็นจำนวนมาก ตนจึงทำการถ่ายภาพและคลิปนำไปเผยแพร่ใน FB และ Tick Tock ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก และอยากรู้ว่าปูที่พบเป็นปูสายพันธุ์อะไร ตนจึงตัดสินใจทำหนังสือไปถึงเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอทองผาภูมิ เพื่อให้เข้ามาช่วยดำเนินการตรวจพิสูจน์หาสายพันธุ์
สำหรับคนที่สนใจและอยากชมปูป่า สามารถเดินทางมาดูได้ที่บ้านขนุนคลี่ แต่ขอแนะนำว่าควรเดินทางมาในวันที่มีฝนตกชุก เนื่องจากปูจะออกมาหากินในช่วงดังกล่าว จะทำให้มีโอกาสได้เห็นปูจำนวนมาก ที่สำคัญระหว่างเข้าพื้นที่ห้ามส่งเสียงดัง เนื่องจากปูชอบความเงียบ
ส่วนนายวิเชียร ขันแก้ว ชาวบ้านบ้านขนุนคลี่ กล่าวว่า ส่วนตัวมาทำสวนในพื้นที่แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 2527 และสมัยนั้นพบปูป่าชนิดนี้อยู่เป็นจำนวนมาก และที่สำคัญไม่มีใครมาจับเพื่อนำไปเป็นอาหารแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนใหญ่จะพบปูชนิดนี้ในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ของทุกปี จะเห็นปูออกจากรูมาเดินเต็มพื้นที่ไปหมด แต่ปัจจุบันนี้ เริ่มเห็นปูลดน้อยลงไปมาก เชื่อว่าสาเหตุน่าจะมาจากการทำการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกดีใจที่จะมีการเข้ามาศึกษา เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ ไม่ว่าผลการพิสูจน์ออกมาจะเป็นปูทูลกระหม่อม หรือปูชนิดใดก็ตาม เราพร้อมที่จะอนุรักษ์เอาไว้เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป