xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านขนุนคลี่ใช้โซเชียลโชว์ปูป่า หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - เกษตรกรชาวสวนยางบ้านขนุนคลี่ อ.ทองผาภูมิ ใช้เวลาว่างออกบันทึกภาพปูป่าที่พบในพื้นที่สวน และรอบหมู่บ้าน ซึ่งมีลักษณะคล้ายปูทูลกระหม่อม  ก่อนนำมาเผยแพร่ในสื่อโซเชียล ทั้งเฟซบุ๊ก และติ๊กต็อก หวังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์
 

วันนี้ (17 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนายจีรพันธ์ ขันแก้ว อายุ 48 ปี ชาวบ้าน ม.1 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เกษตรกรชาวสวนยางบ้านขนุนคลี่ ม.4 ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจ้าของเฟซบุ๊ก Gee Khunkaew และ Tik Tok:@ geekhunkaew เผยแพร่คลิปวิดีโอและภาพนิ่งของปูป่าสีสันสวยงาม ที่มีพฤติกรรมธรรมชาติน่าเอ็นดู ทั้งการเคลื่อนไหวด้วยการเดินและวิ่งลงรูในน้ำ สร้างความสนใจให้แก่ผู้ที่พบเห็น พร้อมทั้งให้ข้อมูลของปูว่า น่าจะเป็นปูทูลกระหม่อมบ้าง ปูเจ้าฟ้าบ้าง ปูราชินีบ้าง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการศึกษาข้อมูลเพื่อยืนยันสายพันธุ์ นำไปสู่การอนุรักษ์ เนื่องจากปัจจุบันจากการศึกษาพบว่าจำนวนปูที่เคยพบในพื้นที่เริ่มลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและวิธีการทำการเกษตรในพื้นที่ที่เปลี่ยนไป การใช้สารเคมีในการเกษตรส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของปู

จากการศึกษาของตนเองเชื่อว่าปูที่พบน่าจะเป็นปูทูลกระหม่อม เนื่องจากมีลักษณะเหมือนมากที่สุด มีลักษณะคือสีของกระดองที่เป็นสีม่วงเปลือกมังคุด บริเวณขอบเบ้าตา ขอบกระดอง ขาเดินทั้ง 4 คู่ และก้ามหนีบทั้ง 2 ข้างจะเป็นสีเหลืองส้ม ปลายขาข้อสุดท้ายและปลายก้ามหนีบมีสีขาวงาช้าง และขนาดของปูมีความกว้างของกระดองประมาณ 3.5 เซนติเมตร ปูเพศผู้ และเพศเมียจะมีลักษณะที่คล้ายกัน โดยจะมีส่วนที่คล้ายกันคือ ส่วนท้องหรือที่เรียกว่าตะปิ้ง ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคือลักษณะของปูทูลกระหม่อมจากข้อมูลที่ตนได้ศึกษามา

สำหรับปูทูลกระหม่อมนั้น เป็นปูที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในปูน้ำจืดที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก โดยมีการค้นพบ “ปูทูลกระหม่อม” ครั้งแรก เมื่อปี 2536 ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยศาสตราจารย์ไพบูลย์ นัยเนตร อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ทางธรรมชาติประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้พบว่าเป็นปูน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก อีกทั้งในปีดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำและมีพระปรีชาสามารถในงานด้านวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้กราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตอัญเชิญพระนามของพระองค์มาเป็นชื่อของปูน้ำจืดชนิดนี้ และได้รับพระราชทานอนุญาตให้เรียกชื่อปูชนิดนี้ว่า "ปูทูลกระหม่อม" ซึ่งได้กลายมาเป็นชื่อเรียกของปูชนิดนี้มาจนถึงปัจจุบัน

ไข่ของปูทูลกระหม่อมตัวเมียมองแล้วคล้ายไข่ปลาแซลมอน ในส่วนการดำรงชีวิตนั้น ปูทูลกระหม่อมจะขุดรูอยู่ในที่ชื้นในบริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมและมีแสงแดดรำไร ความลึกของรูขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดิน จะออกหากินในเวลากลางคืน และจะออกมาดักเหยื่อบริเวณรอบปากรูในรัศมีไม่เกิน 1 เมตร โดยอาหารจะเป็นพืชและสัตว์ เช่น เศษใบไม้ ไส้เดือน แมลงชนิดต่างๆ

พี่กฤษฎา ยอดแก้ว กำลังอธิบายการดำรงชีวิตของปูทูลกระหม่อม บริเวณรูปูช่วงเวลาผสมพันธุ์ของปูทูลกระหม่อม จะเริ่มมีการผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกันยายน ที่จะเป็นช่วงฤดูฝน เเละในฤดูการผสมพันธุ์สีสันของปูทูลกระหม่อมจะเห็นได้เด่นชัดและมีความสวยงามยิ่งขึ้นอีกด้วย หลังจากการผสมพันธุ์ประมาณ 4 เดือน ที่หน้าท้องของตัวเมียจะเริ่มมีไข่ประมาณ 10-35 ฟอง ในช่วงต้นเดือนมกราคมถึงเมษายน ไข่อ่อนเมื่อออกมาใหม่ๆ จะมีสีเหลืองอมส้ม มองแล้วคล้ายไข่ปลาแซลมอน และเมื่อไข่แก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเทาจนเกือบดำ ตัวอ่อนจะฟักออกจากไข่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม และตัวอ่อนจะติดอยู่ที่หน้าท้องแม่ระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝน ลูกปูจะออกจากท้องแม่และไปขุดรูใหม่อยู่อาศัยเอง

สำหรับลักษณะพื้นอยู่อาศัยของปูทูลกระหม่อมนั้น มีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ คนที่สนใจและอยากชมปูสามารถเดินทางมาดูได้ที่บ้านขนุนคลี่ โดยให้คำแนะนำในการมาดูปูว่า ควรเดินทางมาในวันที่มีฝนตกชุก เนื่องจากปูจะออกมาหากิน จะทำให้มีโอกาสได้เห็นปูจำนวนมาก ที่สำคัญระหว่างเข้าพื้นที่ดูปูห้ามส่งเสียงดัง เนื่องจากปูชอบความเงียบ นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บ้านขนุนคลี่ เป็นที่อยู่อาศัยของปูที่มีสีสันสวยงามชนิดหนึ่งของโลก จึงเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องช่วยการดูแล และอนุรักษ์ให้อยู่คู่ชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน และกลุ่มคนที่สนใจต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น