สกสว. มุ่งขับเคลื่อนการผลักดันงานวิจัยสู่ชุมชนและสังคม ผ่านเวทีโลกในที่ประชุมใหญ่สมาคมวิจัยโลก (Global Research Council) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และคณะ ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ประชาคมวิจัยโลก Global Research Council (GRC) ระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2566 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 11 โดยมี Dutch Research Council (NWO) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ São Paulo Research Foundation (FAPESP) ประเทศบราซิล ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ภายใต้หัวข้อหลัก “Rewards and Recognition” และ “Climate Change and Climate Change Initiative”มีผู้นำและผู้แทนกว่า 175 คนจาก 81 หน่วยสนับสนุนทุนวิจัย
จาก 63 ประเทศเข้าร่วมประชุม ในโอกาสนี้ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ดร.อรกนก พรรณรักษา ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านการต่างประเทศ สกสว. เข้าร่วมการประชุม GRC 2023 ในครั้งนี้ด้วย
ในปีนี้ สกสว. ร่วมกับ National Research Council of South Africa (NRF S. Africa) เป็นเจ้าภาพหลักในการจัด Side Event ของการประชุมใหญ่ ภายใต้หัวข้อ “Leveraging Transdisciplinary Research for Community Impact: Global South Experiences”
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 มุ่งชูโรงความสำคัญบทบาทงานวิจัยที่จำเป็นต้องได้รับส่วนร่วมจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทุนวิจัย นักวิจัย นักวิชาการ องค์กรท้องถิ่น และชุมชน ชาวบ้าน กิจกรรมนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในการริเริ่มกิจกรรม side event ในเวทีโลก และประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 85 คนจากทุกทวีป และยังได้รับการทาบทามจากหลายหน่วยงานหลัก รวมไปถึงเจ้าภาพของปีนี้ Dutch Research Council (NWO) ในการเสนอให้ไทยช่วยผลักดันต่อโดยจะขอร่วมเป็นหน่วยสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องของ Transdisciplinary Research (TDR) ต่อไป โดยในปีนี้ สกสว.ตั้งเป้าผลักดันประเด็น TDR ต่อในการประชุมระดับผู้นำของหน่วยงานให้ทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Global Research Council Asia Pacific Regional Meeting) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ตุลาคม 2566 นี้ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
สำหรับการประชุมครั้งนี้ หน่วยงานเจ้าภาพให้ความสำคัญในสองธีมหลัก ได้แก่ “Rewards and Recognition” และ “Climate Change and Climate Change Initiative” โดยเล็งเห็นว่า เรื่องของตัวชี้วัดงานวิจัยนั้นมีการขยายไปอย่างน่าเป็นห่วง มีมิติการชี้วัดความก้าวหน้าของนักวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด จึงเป็นหัวข้อที่ประชาคมวิจัยโลกมองว่า เราไม่ควรจำกัดอยู่ที่เรื่องของจำนวนชี้วัดอีกต่อไป แต่ควรมองบริบทรอบด้านอื่นๆ ที่ช่วยสร้างผลกระทบให้กับสังคม ในขณะที่
เรื่องของ Climate Change นั้น ที่ประชุมมุ่งเน้นถึงการสร้างความร่วมมือ การแสดงเจตจำนงทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ การวางแผนนโยบาย ทิศทางงานและการสนับสนุนทุนวิจัย ตลอดจนการตัดสินใจประเด็นโลกร้อนก็ได้รับผลโดยตรงจากนโยบายการเมืองของแต่ละประเทศ โดยจากการประชุมในครั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้แสดงเจตนารมณ์ภายใต้ Statement of Principles ว่า ประชาคมวิจัยโลก พร้อมในความร่วมมือและมุ่งผลักดันแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งการประชุมประจำปีของประชาคมวิจัยโลกครั้งต่อไปนั้น จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 พฤษภาคม 2567
ณ เมืองอินเทอร์ลาเคน สหพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์