ภูมิภาค - “บริษัททีดี ตะวันแดง” แจงยิบกรณีผู้ประกอบการพาร์ตเนอร์ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ร้องเรียนว่าบริษัทฯ ตั้งโครงสร้างทางภาษีทำให้พาร์ตเนอร์ต้องจ่ายภาษีมากและไม่เป็นธรรมนั้นไม่เป็นความจริง ยันคิดคำนวณภาษีเป็นไปตาม กม.กำหนด โดยพาร์ตเนอร์และบริษัทฯ ต่างรับภาระภาษีในส่วนของตน ไม่ได้ผลักภาระภาษีให้พาร์ตเนอร์แต่อย่างใด ส่วนร้านค้าปิดตัวและถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ เหตุไม่ส่งเงินยอดขายตามสัญญาและสินค้าในร้านสูญหายจำนวนมาก
วันนี้ (15 มิ.ย.) ความคืบหน้ากรณีผู้ประกอบการร้านค้า “ถูกดี มีมาตรฐาน” พาร์ตเนอร์ของ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ จำนวน 27 แห่ง ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกรมสรรพากร พร้อมได้ทำหนังสือข้อแย้งวิธีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ยื่นไปยังอธิบดีกรมสรรพากรและสรรพากรพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอคำชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญและเพื่อหาข้อยุติและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หลังต้องแบกรับภาระจ่ายภาษีทั้งของบริษัทคู่สัญญาและของตัวเอง หลายรายต้องปิดร้าน ติดหนี้กับบริษัทฯ หลักล้านบาท และถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงด้วย ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ได้ส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวภาระภาษีของพาร์ตเนอร์ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ดังกล่าวมายังกองบรรณาธิการ “ผู้จัดการออนไลน์” ระบุรายละเอียดว่า ตามที่สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ (พาร์ตเนอร์) กับ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด เพื่อดำเนินการร้านค้าภายใต้แบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ซึ่งได้มีการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นภาระภาษีของพาร์ตเนอร์และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าบริษัทฯ ตั้งโครงสร้างทางภาษีที่ทำให้พาร์ตเนอร์ต้องจ่ายภาษีมากและไม่เป็นธรรมนั้น
บริษัทขอเรียนว่า ภาระภาษีของพาร์ตเนอร์และบริษัทฯ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้สื่อมวล ชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องดังนี้
1. ภาระภาษีของพาร์ตเนอร์ร้านถูกดี มีมาตรฐาน บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า พาร์ตเนอร์ทุกรายทราบดีว่า ร้านค้าที่พาร์ตเนอร์ดำเนินการอยู่นั้น “เป็นร้านค้าของพาร์ตเนอร์เอง” โดยพาร์ตเนอร์มีหน้าที่จดทะเบียนการค้ากับกระทรวงพาณิชย์และขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการดำเนินการร้านค้าของพาร์ตเนอร์ ในนามของพาร์ตเนอร์เอง ดังนั้นพาร์ตเนอร์จึงไม่ใช่สาขาของบริษัทฯและไม่ใช่พนักงานหรือตัวแทนของบริษัทฯ เมื่อพาร์ตเนอร์จำหน่ายสินค้าให้กับลูกค้าไป ถือเป็นยอดขายของร้านค้า พาร์ตเนอร์ในฐานะเจ้าของร้านจึงมีภาระภาษีที่จะต้องจ่ายจากรายได้ในส่วนนี้ เช่นเดียวกับการชำระภาษีของร้านค้าทั่วไป
บริษัทฯ เปรียบเสมือนเป็นซัปพลายเออร์ของร้านค้าพาร์ตเนอร์ เนื่องจากบริษัทฯ เป็นผู้จัดหาและติดตั้งระบบดำเนินการร้านค้า ให้ยืมทรัพย์สินเพื่อใช้ในการดำเนินการร้านค้า รวมถึงจัดหาส่ง และขายสินค้าให้กับพาร์ตเนอร์เพื่อให้พาร์ตเนอร์นำไปจำหน่ายให้ลูกค้า โดยถือว่าบริษัทฯขายสินค้าให้พาร์ตเนอร์และเรียกชำระค่าสินค้าก็ต่อเมื่อพาร์ตเนอร์ขายสินค้านั้นออกไป วิธีการนี้พาร์ตเนอร์ไม่ต้องมีเงินทุนสำรองสำหรับค่าสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่ในร้าน บริษัทฯ ช่วยจัดทำบัญชีและคำนวณรายได้ของพาร์ตเนอร์ในแต่ละเดือน โดยบริษัทฯ คิดคำนวณกำไรของพาร์ตเนอร์โดยการนำยอดขายสินค้าหักลบกับต้นทุนสินค้าก่อน จึงเหลือเป็นกำไรของร้านค้า จากนั้นบริษัทฯ หักค่าตอบแทนที่พาร์ตเนอร์ตกลงแบ่งให้บริษัทฯ ออกจากกำไรของร้านค้า แล้วบริษัทฯ จึงโอนกำไรสุทธิของพาร์ตเนอร์ให้พาร์ตเนอร์ต่อไป
บริษัทฯ ขอยืนยันว่า การคิดคำนวณภาษีดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย โดยพาร์ตเนอร์และบริษัทฯ ต่างรับภาระภาษีในส่วนของตน บริษัทฯ ไม่ได้ผลักภาระทางภาษีให้กับพาร์ตเนอร์ เพราะบริษัทฯ เองก็มีภาระต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าให้กับพาร์ตเนอร์
2. ร้านค้าที่ปิดตัว และการดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ตามที่สื่อมวลชนได้มีการนำเสนอเนื้อหาในข่าวว่า
“มีผู้ประกอบการร้านถูกดี มีมาตรฐาน ปิดตัวลง และติดหนี้บริษัทฯ เป็นหลักล้านบาทรวมทั้งถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกง” บริษัทขอชี้แจงว่า ร้านค้าที่ยกเลิกสัญญาและปิดตัวกว่า 80% เกิดจากปัญหาเรื่องการเงินใน 2 ลักษณะ คือ
1. การที่พาร์ตเนอร์ไม่ส่งเงินยอดขายให้กับบริษัทฯ ตามสัญญา และ 2. การที่บริษัทฯ ตรวจพบสินค้าภายในร้านค้าสูญหายเป็นจำนวนมาก โดยพาร์ตเนอร์ร้านค้าส่วนใหญ่ยอมรับการปิดร้าน รวมทั้งยอมรับว่าได้นำสินค้าของบริษัทฯ ไปจำหน่ายโดยไม่ผ่านระบบเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (POS) บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเจรจาหาทางออกร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีปัญหาเรื่องการเงิน เพื่อให้พาร์ตเนอร์สามารถดำเนินกิจการร้านค้าต่อไปได้
แต่ก็มีพาร์ตเนอร์จำนวนหนึ่ง ที่บริษัทฯ ไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ซึ่งโดยมากมักมาจากมูลค่าหนี้ที่สูงมากหรือพาร์ตเนอร์มีภาระหนี้สินส่วนตัวที่มากเกินกว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการปิดร้าน ในวันปิดร้าน บริษัทฯ ตรวจสอบพบว่าพาร์ตเนอร์หลายรายนำทรัพย์สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในความครอบครองของพาร์ตเนอร์ไป คิดเป็นมูลค่าสูงมาก บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องไปแจ้งความดำเนินคดีในข้อหายักยอกทรัพย์ เนื่องจากหากไม่มีขั้นตอนการแจ้งความจะทำให้พาร์ตเนอร์รายอื่นเห็นว่าสามารถนำสินค้าของบริษัทฯ ไปได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทฯ อย่างมาก
สุดท้ายนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล จึงทำทุกอย่างให้โปร่งใส ตรวจสอบได้อันเป็นหลักการที่บริษัทฯยึดถือมาตลอดในการทำธุรกิจ และ ธุรกิจของบริษัทฯ จะเจริญเติบโตได้ก็ต่อเมื่อพาร์ตเนอร์ทุกรายที่เข้ามาร่วม สามารถที่จะมีรายได้ดีมีภาระค่าใช้จ่ายน้อย
ฉะนั้น การกล่าวอ้างว่าบริษัทฯ จงใจที่จะตั้งโครงสร้างเพื่อผลักภาระภาษีจึงไม่เป็นความจริง และไม่มีเหตุจูงใจที่บริษัทฯ จะต้องทำเช่นนั้น