เลย - “หมอโอภาส” เผยโอนย้ายรพ.สต.ไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคืบแล้วกว่า 3,000 แห่ง หรือ 1 ใน 3 พบปัญหาบุคลากรยังไม่เข้าใจระบบทำงาน ทั้ง อบจ.หลายแห่งยังไม่พร้อม ชี้การถ่ายโอนขั้นต่อไปต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น ทั้งต้องแก้กฎระเบียบเพิ่ม มั่นใจภาพรวมเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมขุมทองวิไล มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย จังหวัดเลย นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกสถานที่ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการ รพศ./รพท. ผู้บริหารและบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศกว่า 1,000 คน เข้าร่วมประชุม
นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ที่มีทั้งผู้บริหารมาประชุมนอกสถานที่ โดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ เรื่องที่ 1 ติดตามงานของสำนักงานปลัดสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วยสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด รวมทั้งผอ.ศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อติดตามงานตามนโยบายต่างๆ ว่ามีความก้าวหน้าหรือมีอุปสรรคอย่างไร ที่จะช่วยกันหารือแก้ไข
ประการที่ 2 ให้แต่ละโรงพยาบาลไปศึกษาดูงานกิจกรรมที่ดีๆ ของแต่ละจังหวัด อย่างที่จังหวัดเลยเป็นเรื่องของชุมชนที่โรงพยาบาลยุพราชด่านซ้าย รวมทั้งงานดิจิทัลซึ่งเป็นวาระสำคัญที่จะเป็นหัวข้อสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ ส่วนเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต.ที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.การกระจายอำนาจ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้แก่ประชาชนที่มองระยะยาวก็จะเกิดผลดี
งบประมาณปี 2566 ที่ผ่านมา 9 เดือน โดย รพ.สต.ซึ่งจะมีทั้งหมดประมาณ 9,000 กว่าแห่ง มีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปแล้ว 3,000 กว่าแห่งคิดเป็น 1 ใน 3 ในปีแรกที่มีการถ่ายโอนพบมีปัญหาอยู่หลายประการ ไม่ว่าปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรที่ถ่ายโอนไปมีความไม่เข้าใจในระบบการดำเนินงาน ผู้ที่รับถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายแห่งยังไม่มีความพร้อม
จากการที่เรามีหนังสือติดตามไปหลังจากมีการถ่ายโอน พบว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีความพร้อมมีอยู่ 7-8 แห่ง ที่ไม่พร้อมมีจำนวนมาก ยังมีหลายเรื่องทั้งข้อระเบียบ กฎหมาย ทั้งระเบียบการเงินการคลัง ซึ่งยังไม่มีการปรับปรุงให้เข้ากับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งตรงนี้เป็นอุปสรรคในการทำงาน ทำบุคลากรทาง รพ.สต.ที่โอนไปประสบปัญหาอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการจัดให้บริการประชาชน
ตนได้สั่งการว่าอย่าให้ประชาชนเดือดร้อน ให้ทางโรงพยาบาลได้ช่วยสนับสนุนการดูแลประชาชนไม่ให้รับความเดือดร้อน ผลที่ตามมาทำให้โรงพยาบาลหลายๆ แห่งมีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงให้ทั้งแพทย์ พยาบาลมีงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นการถ่ายโอนระยะต่อไป คงทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น รวมทั้งขั้นตอนและกฎระเบียบต่างๆ คงต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ให้ รพ.สต.ที่โอนไป อบจ.ให้เข้าใจระบบ และทาง อบจ.ต้องจัดงบประมาณต่างๆ ให้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้การบริการในภาพรวมเกิดประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนมากขึ้น