น่าน - มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเปิดแคมป์รุ่นแรก ฝึก “เยาวชน 8 โรงเรียนน่าน” ทำธุรกิจจริง ตั้งบริษัทจำลองพัฒนา 8 สินค้าท้องถิ่น ทั้งกาแฟ พิซซาม้ง น้ำพริก คุกกี้ ข้าวหลาม เนยถั่วมะมื่น ฯลฯ สร้างเมล็ดพันธุ์ขับเคลื่อนความยั่งยืนบ้านเกิด
โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ได้ทำให้นักเรียนมัธยมปลายจาก 8 โรงเรียนในจังหวัดน่าน ได้เรียนรู้ประสบการณ์ทำธุรกิจจริง ผ่านหลักสูตร 3 แคมป์ ใน 66 วัน จากวิทยากรมืออาชีพและนักธุรกิจตัวจริง ตั้งบริษัทจำลองพัฒนา 8 สินค้าที่มีในท้องถิ่น
โดยมูลนิธิฯ สนับสนุนเงินทุนเริ่มต้นในการทำธุรกิจ ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้การเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบท้องถิ่น พัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ และขายจริง ได้ความรู้และประสบการณ์ที่มีค่าติดตัว เมื่อได้เป็นผู้ประกอบการในชีวิตจริง ช่วยเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จ และใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล รวมถึงสามารถแบ่งปันความรู้และวิธีการให้ชุมชนได้รับโอกาสเดียวกันได้ เพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนในจังหวัดบ้านเกิด
ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา เปิดเผยว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ เปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา จาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดน่าน ได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงในการทำธุรกิจผ่านกิจกรรม 3 แคมป์
ประกอบด้วย แคมป์ที่ 1 “กล้าเรียน” ปูพื้นฐานสร้างไอเดียธุรกิจ ความเป็นไปได้ และเรียนรู้สิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ แคมป์ที่ 2 “กล้าลุย” บุกตลาด ลงมือขาย พบลูกค้าตัวจริง เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ แคมป์ที่ 3 “กล้าก้าว” รายงานและนำเสนอผลประกอบการ
ซึ่งทำให้เยาวชนได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่และคุณค่ามิติต่างๆ ในการทำธุรกิจที่ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรการเรียนระดับมัธยมทั่วไป ตั้งแต่วิธีการคิดหาไอเดียที่ตลาดต้องการ การทดสอบผลิตภัณฑ์ในตลาด กระบวนการตั้งราคา การทำแพกเกจ การทำบัญชีธุรกิจ การบริหารจัดการบริษัท การตลาด และกระบวนการเปิดและปิดบริษัท การบริหารคน รวมทั้งมีความเข้าใจคุณค่าของทุนในการทำธุรกิจ และการสร้างผลตอบแทน
ปรากฏว่าเยาวชนทั้ง 8 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จังหวัดน่าน (คุกกี้ แบรนด์ Ten Bites) โรงเรียนพระธาตุพิทยาคม (กาแฟ และพิซซาม้ง แบรนด์มองเดอพี) โรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี (ข้าวแคบแบรนด์ลินา) โรงเรียนเชียงกลาง “ประชาพัฒนา” (น้ำพริก แบรนด์น้ำพริกสามช่า) โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน (สแน็กบอกซ์ แบรนด์ NALANA) โรงเรียนสา (ข้าวหลามถอดเสื้อ แบรนด์หลามรวย) โรงเรียนท่าวังผาพิทยาคม (น้ำสลัดอะโวคาโด แบรนด์ KADO) และ โรงเรียนปัว (เนยถั่วมะมื่น แบรนด์มะมื่นบัตเตอร์) สามารถนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเลือกสรรสินค้าหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น พัฒนาเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ สร้างแบรนด์เพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค และขยายตลาดวงกว้างมากขึ้น
นอกจากความรู้ที่เยาวชนได้เรียนรู้ในภาคทฤษฎี และประสบการณ์จริงจากกูรูในด้านต่างๆ การปฏิบัติจริงผ่านการพัฒนาสินค้าต่างๆ ของเยาวชนที่ต้องผ่านกระบวนการคิด กระบวนการจัดทำ จนถึงการนำผลิตภัณฑ์มาขายจริง ทำให้เยาวชนเกิดซอฟต์สกิล พัฒนาการและการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ จัดตั้งบริษัทจำลองทำธุรกิจตามองค์ความรู้ ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริงทั้งกระบวนการ ด้วยการสร้างประสบการณ์จริงให้แก่เยาวชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และจะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสทางการศึกษาจากประสบการณ์จริง พัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้แก่ประเทศต่อไป