ศูนย์ข่าวศรีราชา - ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.บูรพา จัดประชุมวิชาการพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 สร้างนักพฤกษศาสตร์รุ่นใหม่ให้พอกับความต้องการรับสถานการณ์โลกร้อน และการส่งออกสมุนไพรที่เพิ่มมากขึ้น
วันนี้ (9 มิ.ย.) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมวิชาการพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 15 (The 15th Botanical Conference of Thailand : BCT15) ในหัวข้อ "พฤกษศาสตร์สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : ความร่วมมือในระดับท้องถิ่นสู่ระดับสากล" (Botany towards SDGs: from local to global partnership)
โดยมีสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย.นี้ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมี ดร.วีระชัย ณ นคร นายกสมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานเปิดงาน
ขณะที่รองศาสตราจารย์ ดร.อุษาวดี ตันติวรานุรักษ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างผู้สนใจในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพฤกษศาสตร์ ตลอดจนก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันและบุคลากร
เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)
ขณะที่ ดร.วีระชัย ณ นคร นายกสมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เผยว่า การจัดประชุมทางวิชาการดังกล่าวถือเป็นเรื่องดี เพราะปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างขาดแคลนบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับงานด้านพฤกษศาสตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งที่ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีสวนพฤษศาสตร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาตัวบุคลากรที่จะเข้ามาดูแลได้อย่างเพียงพอ
เช่นเดียวกับบริษัทต่างๆ ที่ได้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นสมุนไพรไปต่างประเทศมีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสาขาพฤกษศาสตร์ที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันภาวะโลกร้อน และต้นไม้ที่มีจำนวนลดลง บุคลากรในส่วนนี้จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น
“การประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีความน่ายินดีที่มีเยาวชนรุ่นใหม่เข้าร่วมเผยแพร่ผลงานด้านพฤกษศาสตร์เพิ่มมากขึ้นในหลายหัวข้อ และมีการจัดทำโปสเตอร์ที่เป็นผลงานที่เด่นทางวิชาการที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะเป็นการสร้างเครือข่ายการพัฒนาบุคลากรยุคใหม่ในด้านนี้ให้เพิ่มขึ้นได้” นายกสมาคมพฤกษศาสตร์ฯ กล่าว