xs
xsm
sm
md
lg

ไมโครเวฟ ตัวช่วยอุ่นร้อนอาหาร ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการภาควิชาฟิสิกส์ ย้ำ คลื่นไมโครเวฟไม่เป็นอันตราย ไม่กระจาย และไม่สะสมในร่างกายมนุษย์ ผู้บริโภคสามารถใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหารได้อย่างปลอดภัย

รศ.ดร.สุรเชษฐ์ หลิมกำเนิด ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้เรื่องการทำงานของไมโครเวฟว่า เตาไมโครเวฟ ทำให้อาหารสุกโดยคลื่นไมโครเวฟซึ่งจะพุ่งเข้าสู่อาหารจากทุกทิศทุกทางแล้วแผ่กระจายสู่อาหาร เมื่อคลื่นกระทบอาหาร โมเลกุลของอาหารจะเกิดการสั่นและเสียดสีกันเป็นความร้อนทําให้อาหารสุก อาหารโดยทั่วไปประกอบด้วยโมเลกุลของน้ำ จะดูดซึมคลื่นไมโครเวฟ ทําให้อาหารร้อนอย่างรวดเร็ว ความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ช่วยรักษาคุณค่าของอาหารไว้อย่างครบถ้วน แต่ตัวคลื่นจะหายไปทันทีหลังจากให้ความร้อนโดยไม่สะสมในอาหาร

“คลื่นไมโครเวฟ เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความถี่สูงมากถึง 2,450 ล้านรอบต่อวินาที (แต่ไม่ใช่รังสีในแบบของกัมมันตภาพรังสี) มีลักษณะคล้ายกับคลื่นวิทยุแต่มีความถี่สั้นกว่า โดยมีแม็กนิตรอนที่เป็นตัวเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งคลื่นไมโครเวฟไม่เป็นอันตรายและไม่กระจายหรือสะสมในร่างกายมนุษย์” รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าว


คลื่นไมโครเวฟไม่สามารถทะลุผ่านภาชนะที่เป็นโลหะหรือมีส่วนผสมของโลหะได้ คลื่นจะสะท้อนกลับ (Reflection) ผิวเคลือบโลหะของภาชนะอาจเกิดความร้อนสูง เกิดเป็นประกายไฟหรือเปลวไฟ ทำอันตรายกับเตาไมโครเวฟได้ แต่คลื่นไมโครเวฟสามารถทะลุผ่าน (Transmission) ภาชนะที่ทำจากแก้ว กระดาษ ไม้ เซรามิกและพลาสติกได้


สำหรับภาชนะที่ใช้กับไมโครเวฟได้ดี ได้แก่ 1.ภาชนะกระเบื้อง เช่น จาน ชาม ถ้วย 2.ภาชนะแก้วทนไฟ 3.ภาชนะแก้วที่ใช้สําหรับเตาธรรมดา 4.ภาชนะแก้วที่ทนความร้อน เช่น ไพเร็กซ์ คอร์นนิ่งแวร์ เครื่องเคลือบเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา 5.ภาชนะกระดาษ สําหรับอาหารที่ต้องการความร้อนไม่มาก เช่น การอุ่นอาหาร หรืออาหารที่ใช้เวลาทำให้สุกในระยะสั้นมาก และอาหารที่ไม่มีมันมาก 6.ภาชนะพลาสติก เช่น ถุงพลาสติกทนร้อน และ 7.ภาชนะพลาสติกที่ออกแบบมาโดยเฉพาะกับการใช้งานและต้องระบุด้วยว่าใช้กับเตาไมโครเวฟได้ (Microwavable) ส่วนภาชนะที่ควรหลีกเลี่ยง คือ ภาชนะโลหะ ภาชนะเคลือบโลหะหรือมีขอบเป็นโลหะ เงิน ทอง อะลูมิเนียมฟอยด์ และภาชนะประเภทไม้


การใช้เตาไมโครเวฟ มีข้อควรระวังดังนี้

อย่าใช้เตาไมโครเวฟในขณะที่เปิดตู้อยู่ จะทําให้คลื่นไมโครเวฟพุ่งออกมาด้านนอกเป็นอันตรายได้ อย่างไรก็ดี ตามปกติแล้วเตาไมโครเวฟจะมีกลไกที่จะไม่ทำงานหากประตูตู้เปิดอยู่

อย่าใช้เตาอบไมโครเวฟที่ชํารุดเสียหาย มีการผุกร่อนของผนังเตา ประตูตู้ปิดไม่สนิท บานพับและสลักนิรภัยแตกหัก และกระจกของประตูแตก

ห้ามเปิดใช้งานโดยไม่มีอาหารหรือนํ้าอยู่ในเตา เพราะอาจทำความเสียหายกับตู้เนื่องจากพลังงานที่ส่งออกมาไม่ได้นำไปใช้ในการอุ่นอาหาร


ต้องเปิดฝาภาชนะประเภทขวดที่มีอาหารบรรจุอยู่ ก่อนนำเข้าไมโครเวฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันที่เพิ่มขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นดันให้ภาชนะแตก ดังนั้นจึงไม่ควรนําไข่ทั้งฟองเข้าเตา เพราะจะทําให้ไข่แตกกระจายได้

ห้ามทอดอาหาร หรือคั่วข้าวโพด เพราะความร้อนที่สูงเมื่อเจอกับน้ำมันจะทำให้อาหารลุกไหม้ได้

ห้ามใช้เตาไมโครเวฟอุ่นสารเคมี อบผ้า หรือกระดาษที่เปียกให้แห้ง เพราะจะทําให้เกิดการลุกไหม้และทำให้เตาไมโครเวฟชํารุด

ไม่ควรซ่อมหรือปรับเตาไมโครเวฟด้วยตนเอง ควรเรียกช่างผู้ชำนาญการมาตรวจสอบเท่านั้น


“เตาไมโครเวฟ เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่อำนวยความสะดวกในยุคดิจิทัล ช่วยให้ชีวิตประจำวันไม่ต้องใช้เวลานานกับการปรุงอาหาร และช่วยคงคุณค่าของอาหารไว้ได้อย่างครบถ้วน ทั้งยังประหยัดเวลาและพลังงาน ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้อย่างถูกต้องและเข้าใจ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน” รศ.ดร.สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น