xs
xsm
sm
md
lg

มช.-สกสว.-บพท.จับมือจัดสัมมนาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ NEC ผสานพลังภาคีภาคเหนือตอนบน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - มช. ร่วมกับ สกสว. และ บพท. จัดเวทีสัมมนาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ NEC ผสานพลังภาคีภาคเหนือตอนบน พัฒนาแผนแม่บทสู่ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ


เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ ภายใต้โครงการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC - Creative LANNA) ด้วยแนวคิด BCG Economy เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และร่วมต่อยอดสู่แผนแม่บทพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการบูรณาการร่วมกันจากภาคชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พร้อมจัดการบรรยายพิเศษ "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โอกาสและแนวทางการพัฒนาของภาคเหนือ"

โดยนายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและแนะนำโครงการ พร้อมด้วย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และตัวแทนจาก 4 ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของพื้นที่ NEC ร่วมสัมมนาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ โอกาสและแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเหนือ ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งฟื้นตัว ประกอบกับ ครม. ได้มีมติเห็นชอบ การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคทั่วประเทศไทย เพื่อเร่งกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจตามอุตสาหกรรมสำคัญของพื้นที่ โดยภาคเหนือมีฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ที่โดดเด่น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ โดยได้กำหนดให้พื้นที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ หรือ Northern Economic Corridor : NEC-Creative LANNA ซึ่งการนำนโยบาย NEC มาขับเคลื่อนในระดับปฏิบัติในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม จำเป็นต้องมีแผนแม่บท (Master Plan) ที่เชื่อมโยงพื้นที่ 4 จังหวัด รวมถึงประเทศใกล้เคียง และการบูรณาการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมในพื้นที่ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแผนแม่บทระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือนี้


ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าวเสริมอีกว่า การจัดเวทีสัมมนาและประชุมกลุ่มย่อยในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือด้วยแนวคิด BCG Economy ซึ่งร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่และสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ดำเนินโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายร่วมกันขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ 4 จังหวัด และในภาคเหนืออย่างเป็นรูปธรรมในการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เพื่อระดมความคิดเห็น รวบรวมความต้องการและความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปพัฒนาแนวทาง และแผนงานขับเคลื่อน NEC ในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายการผลักดันแผน NEC ให้เกิดการปฏิบัติจริง พร้อมทั้งเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของ 4 อุตสาหกรรมหลักของ NEC ได้แก่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างความพร้อมในการดึงดูดการลงทุน มุ่งสู่ฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยแนวคิด BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นที่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมฐาน BCG มาช่วยต่อยอด ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์และบริการ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่งคั่งแบบทั่วถึง (Inclusive Growth) ทั้งนี้ อุทยานฯ พร้อมเป็นฐานและตัวกลางเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน NEC ในพื้นที่ให้สามารถนำไปบูรณาการต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของภาคเหนืออย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีเป้าหมายว่าแผนแม่บทการขับเคลื่อน NEC ด้วยการนำนวัตกรรมด้าน BCG มาเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการนี้จะช่วยยกระดับ GPP รวมของจังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของมูลค่าเดิม 498,389 ล้านบาท (ปี 2563) ภายในปี 2570

ด้านนายบุญชัย ฉัตรประเทืองกุล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานหลักในการผลักดันพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของประเทศเผยว่า การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ เป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อสร้างพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน มุ่งกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาค โดยการขับเคลื่อน NEC ต้องเตรียมพร้อมอย่างรอบด้าน ทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและบริการ การพัฒนาแรงงาน และสนับสนุนผู้ประกอบการ และการวิจัยพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ NEC มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดแผนแม่บท NEC ในการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น