จ.ประจวบฯ ผนึกหน่วยงานพื้นที่ประกาศเจตจำนงช่วยลดโลกร้อนอย่างยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เดินหน้างานก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด ส่งเสริมทุกโครงการใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)’ คาดปี 66 ลดก๊าซเรือนกระจก 3,122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ดร.เสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาเหตุของภาวะโลกร้อน และพร้อมสนับสนุนนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัด ตามเป้าหมาย ‘เมืองท่องเที่ยวทรงคุณค่าระดับนานาชาติ เกษตรปลอดภัย ด่านสิงขรระเบียงเศรษฐกิจแห่งอนาคต สังคมผาสุกภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ เพื่อสร้างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงผนึกความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐในจังหวัด แสดงเจตจำนงส่งเสริมใช้ ‘ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (ปูนลดโลกร้อน)’ ที่จะมีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐและจังหวัดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ตามแนวทาง Bio-Circular-Green Economy
ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศคำมั่นในที่ประชุมผู้นำระดับโลก COP 26 ว่า ไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการร่วมกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัว ครอบคลุมทั้งภาคพลังงาน ภาคกระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคเกษตร ภาคของเสีย และภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการยกระดับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเป็นร้อยละ 40 ในปี 2573 พร้อมทั้งมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2593 และปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2608
กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่น Change for Good พร้อมส่งเสริมหน่วยงานในสังกัดและร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหลายด้าน โดยหนึ่งในนโยบายดำเนินงานที่สำคัญ คือ การส่งเสริมใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนลดโลกร้อน (ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก) ในงานก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งเป้าหมายร่วมลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 ภายในปี 2566
ดร.เสถียร กล่าวเพิ่มเติมว่า “การร่วมกันแสดงเจตจำนงครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการ Change for Good เป็นต้นแบบลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยขอความร่วมมือหน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้าง ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย แขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) แขวงทางหลวงชนบทประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานชลประทานที่ 14 สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาตรฐาน มอก.2594 เป็นทางเลือกแรก สำหรับการก่อสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 3,122 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ (เทียบเท่าการปลูกไม้พื้นเมืองเพื่อดูดซับ CO2 ประมาณ 330,000 ต้น หรือ 3,300 ไร่) ทั้งนี้ ตั้งเป้าว่าในปีงบประมาณ 2567 จะมีการใช้ปูนในทุกโครงการก่อสร้างของจังหวัด และเชิญชวนภาคเอกชน ภาคประชาชนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ลูกหลานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีสืบไป”