ฉะเชิงเทรา - นักธุรกิจเมืองแปดริ้วฝากความหวังรัฐบาลใหม่แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางจัดสรรน้ำเป็นระบบป้องกันภัยแล้ง รับการเติบโตภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในโครงการ EEC จี้บังคับใช้กฎหมายจริงจัง
ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้หลายจังหวัดเกิดปรากฏช้างล้ม บ้านใหญ่วืดจากกระแสความแรงของพรรคก้าวไกล แต่ผลการเลือกตั้งของ จ.ฉะเชิงเทรา กลับพว่ากลุ่มการเมืองใหญ่ในพื้นที่ยังคงรักษาฐานเก้าอี้ได้อย่างเหนียวแน่น
โดย กกต.ฉะเชิงเทรา ได้ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการคือ เขต 1 ผู้ชนะการเลือกตั้ง นางฐิติมา ฉายแสง จากพรรคเพื่อไทย เขต 2 นายอรรถกร ศิริลัทธยากร พรรคพลังประชารัฐ เขต 3 นายศักดิ์ชาย ตันเจริญ พรรคเพื่อไทย และเขต 4 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ จากพรรคก้าวไกลนั้น
วันนี้ (19 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายธนวัฒน์ สันตินรนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินดัสเตรียล วอเตอร์ รีซอร์สแมนเนจเม้นท์ จำกัด (IWRM) ผู้ประกอบการด้านชลประทานทางท่อในธุรกิจส่งจ่ายน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่งใน จ.ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมอีก 1 แห่งใน จ.ชลบุรี ว่า สิ่งที่เอกชนต้องการจากรัฐบาลใหม่ คือ การกำหนดแนวทางจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในอีก 3 ปีข้างหน้า
หลังพบว่าความต้องการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มมากทวีคูณจากการขยายตัวของจำนวนประชากรผู้ใช้น้ำ และภาคอุตสาหกรรม โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อ่างกักเก็บน้ำในประเทศมีอัตราคงที่ หรือมีจำนวนน้ำเพิ่มขึ้นไม่มากนัก
“สิ่งที่อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่คือการจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในอนาคต และยังเป็นการรองรับความต้องการใช้น้ำที่มีอัตราก้าวหน้าตามจำนวนประชากร รวมทั้งปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจำนวนประชากรแฝงที่จะย้ายเข้ามาในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)”
นอกจากนั้น ยังขอรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการกำหนดมาตรการเพื่อลดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เพื่อให้คุณภาพของน้ำฝนที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำคูคลองไม่มีสารเคมีปนเปื้อน เช่นเดียวกับคุณภาพน้ำตามธรรมชาติเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
รวมทั้งยังขอให้มีการเพิ่มโครงข่ายชลประทานทางท่อให้ครอบคุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และภาคตะวันออกมากขึ้น
ส่วนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะต้องกำหนดแนวทางในการจัดทำโครงการ CSR ทั้งการขุดลอกลำคลองสาธารณะหรือคลองไส้ไก่ และเก็บขยะในพื้นที่โดยรอบให้สะอาด ภายใต้แนวคิด ESG (Environment Social Governance)
และจะต้องมีการกำหนดนโยบายในการเฝ้าระวังแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง ทั้งการอยู่ใกล้โรงทำสีรถ หรือแหล่งเลี้ยงสัตว์ด้วยการขอความร่วมมือไปยังเจ้าของกิจการไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คูคลอง และแหล่งน้ำสาธารณะในชุมชน