xs
xsm
sm
md
lg

ห่วง “เอลนีโญ” กระทบขอนแก่นแล้งหนัก ชูฝายแกนดินเหนียวสร้างมั่นคงจัดเก็บน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ห่วงปรากฏการณ์เอลนีโญกระทบขอนแก่นแล้งหนัก ผู้ว่าฯ เผยปริมาณน้ำท่าแต่ละปีกว่า 6,000 ล้าน ลบ.ม. แต่จัดเก็บได้แค่ 2,800 ล้านลบ.ม. ชี้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการแผนกักเก็บน้ำ ชูสร้างฝายแกนดินเหนียว ต้นทุนสร้างต่ำจัดเก็บน้ำได้มาก สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ จ.ขอนแก่น

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ลงพื้นที่ตรวจฝายแกนดินเหนียว ที่บริเวณท่าสูบน้ำท่าหนองแดง บ้านท่านางแนวหมู่ 2 ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณท่าสูบน้ำท่าหนองแดง บ้านท่านางแนว หมู่ 2 ตำบลท่านางแนว อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานแถลงข่าว มี ผศ.ดร.โพยม สราภิรมย์ ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำใต้ดิน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, พระโสภณพัฒนบัณฑิต รศ.ดร.รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ม.), ดร.ทวีสันต์ วิชัยวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น โดยมีนายอำเภอทั้ง 26 อำเภอ, พ.อ.ณัฐพงศ์ กฤติธำรง หัวหน้าฝ่ายนโยบายแผน และการข่าว กอ.รมน.จังหวัดขอนแก่น ส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน ร่วมรับฟังการแถลงข่าว

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงการประกาศเรื่องน้ำเป็นวาระจังหวัดขอนแก่น ว่า สืบเนื่องจากข้อมูลนักวิชาการชี้ว่าขณะนี้กำลังจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้น Super เอลนีโญ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาวะแล้งติดต่อกัน 3-5 ปี ดังนั้นจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีน้ำโดยเฉพาะน้ำท่า ปีละ 3,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ เลย เพชรบูรณ์ อีกประมาณ 3,000 กว่าล้าน ลบ.ม. รวมเป็น 6,000 กว่าล้าน ลบ.ม.

แต่สามารถจัดเก็บน้ำไว้ในพื้นที่ได้ ประมาณ 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องหาวิธีบริหารจัดการน้ำโดยบริหารจัดการร่วมกันทั้งคณะสงฆ์ ภาคเอกชน หอการค้าสภาอุตสาหกรรม ที่จะช่วยกันเตรียมรับมือกับภาวะ เอลนีโญ ที่จะมาถึงนี้ เพราะน้ำคือชีวิต หากขาดน้ำจะส่งผลกระทบทั้งเรื่องการลงทุน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม ทุกระบบ

การสร้างฝายแกนดินเหนียวสามารถทำได้ในระยะเวลาสั้นและมีต้นทุนไม่มากนัก ทำได้ในระยะเวลาจำกัดเพียง 1 สัปดาห์ จะกักเก็บน้ำได้ถึง 900,000 ลบ.ม. คิดเป็นต้นทุนโดยเฉลี่ย 3 สตางค์/ลบ.ม. ซึ่งถือว่ามีความคุ้มค่าในแง่การลงทุน ซึ่งเมื่อมีน้ำแล้วจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อพืช คน สัตว์ สิ่งมีชีวิต สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะสภาพจิตใจของพี่น้องประชาชน




ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นกล่าวถึงการพยากรณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นด้วยว่า จากข้อมูลสถิติตัวเลขปริมาณฝนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง คือมีค่าเฉลี่ยฝนช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปกติจะอยู่ที่ 158 มม. แต่ในปี 2566 ช่วง 4 เดือนมีปริมาณฝนตกเพียง 91 มม. ซึ่งพายุฤดูร้อนช่วงที่ผ่านมามีเพียงลม แต่ไม่มีฝน และพายุที่ทำให้เกิดฝนตกล่าสุดคือ พายุโมคา เท่านั้น การเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน และปริมาณฝนไม่มาก เมื่อฝนมาต้องรีบกักเก็บน้ำ

เมื่อมีน้ำเข้ามาในปริมาณมาก จะต้องรีบจัดเก็บไว้ให้มากที่สุด หรือเมื่อเกิดน้ำท่วมจะท่วมในปริมาณไม่มาก เป็นการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมทั้งหมด ตั้งแต่ป่าต้นน้ำ มีฝายชะลอน้ำบนเขา ตามลำห้วยต่างๆ ต้องมีฝายขั้นบันได การมีแหล่งน้ำสำรอง แหล่งน้ำของทางราชการ เช่น ชลประทาน ที่มีสภาพตื้นเขิน จะต้องบริหารจัดการโดยบูรณาการทุกภาคส่วนทุกมิติ ทั้งน้ำฝน น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย รวมถึงคณะสงฆ์และภาคเอกชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงของน้ำในจังหวัดขอนแก่น

“ยืนยันว่าจังหวัดขอนแก่นไม่ได้แล้ง เพียงแต่ขาดเรื่องการบริหารจัดการ ขาดการหาสถานที่ให้น้ำอยู่ เมื่อสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ จะส่งผลต่อความเจริญอย่างยั่งยืนของจังหวัดขอนแก่นได้แน่นอน" นายไกรสรกล่าว




ด้านพระโสภณพัฒนบัณฑิต รศ.ดร.รองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ม.) กล่าวว่า ในส่วนคณะสงฆ์ ถือว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญตอบสนองกับนโยบายของจังหวัด คืองานสาธารณูปการ และงานสาธารณสงเคราะห์ โดยได้จัดทำผ้าป่าสมทบจัดทำฝายกั้นน้ำ เช่นที่อำเภอแวงน้อยนี้มีพื้นที่ติดแม่น้ำชี ฤดูฝนจะเกิดน้ำท่วม ส่วนฤดูแล้งจะเกิดความแห้งแล้งไม่สามารถเก็บกักน้ำในแม่น้ำชีไว้ใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาอำเภอแวงน้อยจึงได้จัดสร้างฝายแกนดินแบบซอยซีเมนต์ บริเวณแม่น้ำชี จำนวน 2 จุด

จุดที่ 1 บริเวณท่าสูบน้ำท่าหนองแดง และจุดที่ 2 ท่าสูบน้ำบ้านโนนเขวา โดยจุดที่ 1 ได้งบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดขอนแก่น และอำเภอแวงน้อย คณะสงฆ์และญาติโยมได้จัดทอดผ้าป่าสมทบ ทำให้เกิดความร่วมมือเกื้อกูลของทุกฝ่าย ส่งผลให้โครงการสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยคณะสงฆ์ทั้ง 26 อำเภอจะได้ให้การสนับสนุนภารกิจอันสำคัญนี้ร่วมกับจังหวัดขอนแก่นต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น