ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ใหญ่บ้านราษฎร์บำรุง อ.เสิงสาง โคราช ปลูกเมลอนไร้สารพิษ เผยเคล็ดลับใช้น้ำมะพร้าวและผงโกโก้หมักด้วยจุลินทรีย์เพิ่มความหวาน ออเดอร์จองเต็มหมดทุกรุ่น นิยมซื้อไปเป็นของฝาก
นายถนอม ขันทองคำ วัย 55 ปี ผู้ใหญ่บ้านราษฎร์บำรุง ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ได้ทดลองใช้ที่ดินของตนเอง ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ ทดลองสร้างโรงเรือนปลูกเมลอนสองสายพันธุ์ เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกเมลอนที่ได้การฝึกสอนมาจากบริษัทแห่งหนึ่ง แล้วนำมาประยุกต์ปลูกเมลอนแบบไร้สารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์ เริ่มตั้งแต่เพาะปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งทุกขั้นตอนจะไม่มีการใช้สารเคมีเจือปนเลย ทำให้เมลอนไร้สารพิษของสวนนายถนอมที่ปลูกเอาไว้ 200 ต้นถูกจองหมดแล้ว และในรอบหน้าก็เตรียมเพิ่มจำนวนโรงเรือนเพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น
นายถนอม ขันทองคำ เล่าว่า สายพันธุ์เมลอนที่ตนเองนำมาปลูกในตอนนี้เป็นพันธุ์ไข่ทองคำ และพันธุ์ฮิเดโกะ เป็นสายพันธุ์เมลอนที่ได้รับความนิยมของท้องตลาด ใช้เวลาเพาะเมล็ดประมาณ 10-12 วัน ก่อนย้ายกล้าพันธุ์มาลงแปลง ตั้งร้านให้ต้นเมลอนได้เลื้อยเกาะ จากนั้นให้น้ำทุกวัน กระตุ้นด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ จนเวลาผ่านประมาณ 25 วัน เมลอนจึงจะออกดอก และนำมาผสมเกสร รอเวลาอีก 45 วัน เมลอนจะให้ผลผลิตและสามารถเก็บเกี่ยวได้
เคล็ดลับการเพิ่มความหวาน จะให้ธาตุโพแทสเซียมก่อนเก็บประมาณ 10 วัน โดยโพแทสเซียมจะได้มาจากการหมักผงโกโก้กับน้ำมะพร้าว หมักด้วยจุลินทรีย์ ผ่านทางการให้น้ำทางน้ำหยด หากเกิดโรคแมลงก็จะใช้กระชายขาว ข่า หัวไชเท้า และใบมังคุดหมัก รดทางใบจะสามารถจัดการโรคแมลงต่างๆ ได้ โดยเฉพาะโรคราน้ำค้าง ซึ่งถือเป็นศัตรูอันดับ 1 ของเมลอน แทนการใช้น้ำหมักจากเปลือกมังคุด ที่จะทิ้งสีของเปลือกเอาไว้ตามลูกเมลอน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า เกิดจากการใช้สารเคมี
ทั้งนี้ ก่อนเก็บเกี่ยวจะมีการสุ่มคัดลูกเมลอนมาวัดค่าความหวานให้ได้อย่างน้อย 13 องศาบริกซ์ จึงจะสามารถเก็บเกี่ยวมาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วันเพื่อให้ค่าความหวานเพิ่มแล้วจึงนำใส่บรรจุภัณฑ์ออกจำหน่ายได้
ขณะนี้ตนจะปลูกเมลอนตามกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้ได้ระยะเวลาเก็บเกี่ยวแตกต่างกัน ทำให้สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเมลอนได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรือนที่ทำไว้จะมีขนาดกว้าง 4 เมตร 20 เซนติเมตร ยาว 16 เมตร ปลูกเมลอนได้ประมาณ 200 ต้น ผลผลิตประมาณ 400 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนใหญ่ลูกค้าจะนิยมสั่งซื้อไปเป็นของฝาก เฉลี่ยแล้วแต่ละรุ่นแต่ละโรงเรือนจะสร้างรายได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 40,000 บาทเลยทีเดียว