xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) น้ำตาร่วง! ชาวสวนทุเรียนป่าละอูมองดูทุเรียนยืนต้นตาย หลังชลประทานส่งน้ำเข้าระบบน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวบ้านที่ปลูกทุเรียนในป่าละอู กำลังเดือดร้อนหนักหลังทุเรียนกำลังยืนต้นตาย หลังทางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู ปล่อยน้ำในปริมาณที่น้อยมากๆ จนส่งผลกระทบ ผลผลิตทุเรียนป่าละอูเสียหาย ขณะที่น้ำมีเต็มอ่าง แต่สวนทุเรียนป่าละอูขาดน้ำตายมันเกิดอะไรขึ้น

วันนี้ (9 เม.ย.) นายนิติภูมิ ปัญญาหาญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านที่ปลูกทุเรียนป่าละอู ในหมู่ 3 บางส่วนได้พาผู้สื่อข่าวดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสวนทุเรียนซึ่งขาดน้ำ และส่งผลให้บางส่วนทุเรียนยืนต้นตาย บางส่วนกำลังจะตาย บางส่วนที่ออกดอก ออกลูกขนาดเล็กได้ร่วงหล่น จากสาเหตุจากกรมชลประทานมาสร้างโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู และเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำที่ใช้กาลักน้ำออกจากอ่างบ้านป่าเลาเดิมมาตามลำรางธรรมชาติและไหลลงสู่รางน้ำที่หมู่ 3 บ้านป่าละอู

โดยชาวบ้านสามารถใช้น้ำได้ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค และต่อท่อเข้าไปรดน้ำในสวนทุเรียนได้ แต่พอมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแห่งใหม่ ผ่านมาหลายเดือน โดยทางชลประทาน ได้แจ้งขอหยุดการส่งน้ำผ่านระบบกาลักน้ำ ชั่วคราว ซึ่งทั้งผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านไม่ได้ว่าอะไร เพราะเห็นเป็นเวลาสั้น แต่ปรากฏว่ากลับไม่มีการปล่อยน้ำตามเดิม จนส่งผลให้ไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงสวนทุเรียน จนเกิดความเสียหายในครั้งนี้ 3 วันที่ผ่านมาชาวบ้านเดือดร้อนไปเจรจาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานที่โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นจนต้องมาพึ่งสื่อมวลชน

เนื่องจากชาวบ้านที่ปลูกทุกเรียนป่าละอู ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในเวลานี้พื้นที่เสียหายไม่สามารถบอกได้ว่ากี่ 100 ไร่ กี่ 100 ต้นอยากให้ผู้เกี่ยวข้องลงมาดูสภาพจริงๆมากกว่า ประกอบกับยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือรับผิดชอบชาวบ้านแต่อย่างใด และอยากฝากให้หน่วยเกี่ยวข้องเข้ามาดูและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ รวมทั้งสามารถช่วยเหลือเยียวยาชาวบ้านที่ปลูกทุเรียนป่าละอูที่ได้รับผลกระทบอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากชาวบ้านแต่ละสวนต้องไปกู้เงินลงทุนซื้อปุ๋ยยาในการบำรุงต้นทุเรียน บางครอบครัวเป็นแสนบาท และหวังเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. แต่ตอนนี้เมื่อเสียหายแบบนี้ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากหนี้สิน

ด้านนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน หลังได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนทุเรียนหมู่ 3 บ้านป่าละอู จึงได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังชลประทานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากชาวสวนทุเรียนในหมู่บ้านดังกล่าวขาดแคลนทั้งน้ำบริโภค และการเกษตรเป็นหลัก โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ตามแนวเส้นทางน้ำห้วยป่าเลา พบว่าปัญหาน้ำไม่เพียงพอ ในแต่ละวันที่ส่งมาและจะหมดในช่วงก่อนเที่ยง ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะทุเรียนป่าละอู ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อสร้างรายได้ให้อำเภอหัวหิน จึงขอให้ชลประทานเพิ่มปริมาณการส่งน้ำ และเพิ่มระยะเวลาการปล่อยน้ำให้เร็วขึ้นจากเดิม 3-4 ชั่วโมงในแต่ละวัน เพื่อแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวบ้านหมู่ 3 บ้านป่าละอู

ด้าน น.ส.เจนอนงค์ ศรีชาติ อายุ 34 ปี ซึ่งปลูกทุเรียนป่าละอู และชาวสวนรายอื่นๆกล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า ปกติน้ำจะไหลออกจากอ่างป่าเลา ด้วยวิธีกาลักน้ำที่ชาวบ้านทำเอาไว้มาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยเจอปัญหา แต่พอมีการสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้มีการปิดการใช้น้ำชั่วคราวมาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้ส่งผลกระทบชาวสวนทุเรียนดอกร่วง ลูกร่วง ยืนต้นตาย และบางส่วนกำลังจะตายในขณะนี้ ซึ่งแต่ละสวนชาวบ้านต้องลงทุนสูงในการปลูกทุเรียนป่าละอู ส่วนใหญ่ต้องไปนำปุ๋ย ยาต่างๆ จากร้านค้าตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนบาทโดยที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน

แต่เมื่อมาเจอปัญหาแบบนี้พวกเราจะเอาเงินที่ไหนไปใช้คืนเขาในเมื่อโอกาสที่จะตัดทุเรียนขายในปีนี้ไม่มีแล้ว ขณะนี้สิ่งสำคัญ คือพวกเราต้องการเอาน้ำมาให้ได้ เพื่อนำไปใช้กับต้นที่ยังพอมีโอกาสที่จะรอด พยายามฟื้นต้นที่เหลือให้ดีขึ้น ถึงแม้ผลผลิตจะไม่มีก็ตาม นี่คือความหวังของพวกเรา ยอมรับว่ารู้สึกเสียดายและเสียใจมากกับปัญหาน้ำที่ไม่ส่งมา ยอมรับว่าทั้งเครียด เราพากันไปที่โครงการอ่างเก็บน้ำป่าละอู หลายรอบเพื่อร้องขอความช่วยเหลือ ถามเขาว่าทุเรียนตายใครจะรับผิดชอบ ก็ไม่มีคำตอบ วันนี้หมดหนทางจึงต้องพึ่งสื่อมวลชน เราเป็นชาวสวนรายเล็กๆ บางสวนมีทุเรียนเกือบ 100 ต้นตายไปครึ่งหนึ่งแทบจะล้มแล้ว

ชาวสวนทุเรียนหมู่ 3 บ้านป่าละอู อีกหลายรายกล่าวด้วยว่า พื้นที่แห่งนี้ชาวสวนทุกคนทำกินอยู่ในโครงการตามพระประสงค์หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าละอู หนองพลับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ดินทำกินให้พวกเราที่อาศัยกันอยู่ในพื้นที่ป่าละอูแห่งนี้มาช้านานแล้ว อีกทั้งทุเรียนป่าละอู เป็นที่ขึ้นชื่อของผู้บริโภค มีนักท่องเที่ยวเข้ามาทุกปี สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านและชุมชน แต่มาวันนี้กับไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งที่สนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้ปลูกทุเรียนกัน













กำลังโหลดความคิดเห็น