xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เทศร่วมบุญคึกคัก! ชาวไทใหญ่แม่ฮ่องสอนแต่งขบวนแห่โคหลู่ปอยส่างลอง สะท้อนวิถีถิ่นสุดงดงาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ฮ่องสอน - พี่น้องชาวไทใหญ่แต่งขบวนแห่โคหลู่ งานบุญปอยส่างลองแม่ฮ่องสอน สุดงดงามสะท้อนวิถีถิ่น ท่ามกลางผู้มีจิตศรัทธาชาวเมืองสามหมอก ตลอดจนนักท่องเที่ยวไทย-เทศ สนใจร่วมขบวนงานบุญใหญ่กันอย่างคึกคัก



วันนี้ (4 เม.ย. 66) นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เข้าร่วมขบวนแห่โคหลู่ ในงานบุญปอยส่างลอง ซึ่งจัดขึ้นที่วัดปางล้อ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทั้งเล็กและใหญ่ ที่ตกแต่งอย่างสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไทใหญ่ ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจร่วมขบวนเป็นจำนวนมาก

สำหรับการจัดประเพณีขบวนแห่งานบุญปอยส่างลองครั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา คณะสงฆ์จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน ที่วัดปางล้อ ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรม ค่านิยมและความเป็นไทย ประจำปี 2566 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2566

ในขบวนแห่โคหลู่มีเครื่องอัฐบริขารที่ใช้ในการบรรพชาและเครื่องไทยธรรม ได้แก่ ปุ๊กข้าวแตกเป็นข้าวตอกห่อด้วยกระดาษสา ผูกติดกับธงสามเหลี่ยมที่เรียกว่า “จ๊ากจ่า” ใช้แทนดอกไม้สำหรับแจกให้ผู้ไปร่วมงานบรรพชาไหว้พระ ปุ๊กข้าวแตกมีจำนวนเท่ากับส่างลองหรือสามเณรที่มาบรรพชา มีเทียนเงิน เทียนทอง เป็นเครื่องบูชาส่างลองสำหรับถวายแด่พระอุปัชฌาย์ พุ่มเงิน พุ่มทอง สำหรับส่างลองถวายพระพุทธและประดับขบวน อูต่อง ปานต่อง คือกรวยหมากพลู และกรวยดอกไม้ หม้อน้ำต่า คือหม้อดินห่อผ้าขาวใส่ใบไม้ 9 ชนิด จัดไว้เพื่อความร่มเย็น และเป็นสิริมงคล ขบวนกลองมองเซิงใช้บรรเลงประกอบขบวนทำให้เกิดความไพเราะรื่นเริงในขบวนเครื่องแห่โคหลู่

ประเพณีปอยส่างลอง หรือการบรรพชาสามเณรหมู่ในช่วงฤดูร้อน เป็นหนึ่งในงานประจำปีของชาวไทใหญ่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดขึ้นปีละ 1 ครั้งทุกปี ระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนา อาหารอุดมสมบูรณ์ และเป็นช่วงที่เด็กๆ เยาวชนปิดเทอม ได้ศึกษาเรียนรู้พระธรรม รวมทั้งได้เจริญจิตตภาวนา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ตามความเชื่อของชาวไทใหญ่ การได้บวชส่างลองจะได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงสุด จึงได้ยึดถือปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน การบวชส่างลองของชาวไทใหญ่มีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการบวชสามเณรในที่อื่นๆ

โดยชาวไทใหญ่ถือว่าส่างลองนั้นเปรียบประดุจดังเทพยดาที่มาปกปักรักษาทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข ยิ่งถ้าปีนั้นมีส่างลองมากเท่าใด ถือได้ว่าความผาสุกจะมาบังเกิดขึ้นในหมู่บ้านมากเท่านั้น






กำลังโหลดความคิดเห็น