xs
xsm
sm
md
lg

แนะเปิดอีไอเอของโรงงานที่หลอมเหล็กกับสารซีเซียม จะรู้ทันทีว่าควรระวังจุดใด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดังแนะเปิดรายงานอีไอเอของโรงงานที่หลอมเหล็กกับสารซีเซียม จะสามารถบอกได้เลยว่าควรเฝ้าระวังที่ใดบ้าง


นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชื่อดัง เผยว่า ในฐานะที่เคยอยู่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หากอยากจะรู้ว่าเราควรจะเฝ้าระวังโรงงานที่หลอมเหล็ก กับสารซีเซียมต้องไปดูที่อีไอเอ จะสามารถตอบได้ทันที สำหรับของบริษัทเคพีพี สตีล จำกัดเป็นโรงงานผลิตเหล็กแท่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ตามข่าวถูกระบุเป็นโรงงานที่ได้ทำการหลอมเศษเหล็กที่มีสารซีเซียม 137 ที่หลุดจากโรงไฟฟ้าไปแล้ว

ซึ่งโรงงานดังกล่าวได้จัดทำรายงานอีไอเอเมื่อ พ.ศ.2552 โดยเตาหลอมเศษเหล็กจะมีอยู่ 4 เตา ทุกเตามี Hood ดูดอากาศจากเตาหลอมไปรวมกันที่ระบบดักฝุ่น หรือ Baghouse filter ซึ่งมีประสิทธิภาพการดักฝุ่นประมาณ 95% ขึ้นไป แต่หากใช้งานไปนานๆ จะเหลือประมาณ 90-95% เท่านั้น โดยจะดักฝุ่นเหล็กขนาดเล็กไว้ในถุงกรองเรียกว่าฝุ่นแดง แต่ฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 0.5 ไมครอนจะถูกปล่อยไปที่ปล่องระบาย (ซึ่งจะมีไอของสาร Cs137 ที่ถูกเผาจากเตาหลอมออกไปพร้อมฝุ่นขนาดเล็กด้วย)

โดยมีอัตราการระบายที่ปากปล่องควันมีค่าระหว่าง 1.90-94.78 กรัมต่อวินาที (ขึ้นกับถุงกรองว่าประสิทธิภาพดีแค่ไหน) ออกไปสู่บรรยากาศ จากข้อมูลแบบจำลองทางคณิตศาสตร์โดยใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในรอบ 30 ปี พบว่าฝุ่นเหล่านี้จะไปตกพื้นที่เกษตรกรรม ห่างจากโครงการไปทางทิศตะวันออก 0.5กิโลเมตร (ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) และกำหนดจุดตรวจวัดฝุ่นในบรรยากาศจากโรงงานคือ ที่บ้านโคกมะม่วง บ้านลาดตะเคียน โรงเรียนลาดตะเคียนราษฎร์บำรุง ซึ่งอยู่ในเส้นทางของลมที่พัดมาจากโรงงาน

ดังนั้น หากจะตรวจวัดสารซีเซียมที่ปะปนมากับฝุ่นในอากาศคงตรวจไม่พบ เนื่องจากปล่อยออกมาหลายวันแล้ว ลมพัดไปหมดแล้ว แต่ต้องตรวจการปนเปื้อนในดิน น้ำผิวดิน พืชผลทางการเกษตรที่ระยะ 0.5 กม.ทางทิศตะวันออกของโรงงาน และตรวจสุขภาพของคนว่าหายใจเอาฝุ่นผสมซีเซียมเข้าไปหรือไม่โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ที่บ้านโคกมะม่วง บ้านลาดตะเคียน และโรงเรียนลาดตะเคียนราษฎร์บำรุง

การตรวจวัดรังสีจากสารซีเซียม 137 ในพื้นที่ดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น อาจจะพบหรือไม่พบมีทางเป็นไปได้หมด หากตรวจวัดไม่พบยิ่งดี แต่หากกล่าวอ้างว่าสารซีเซียมปล่อยออกมาน้อย ไม่ต้องกังวลไม่ต้องตรวจสอบ นั่นแสดงว่าคุณไม่ใช่นักวิชาการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งแวดล้อม หลักการคือประชาชนและสิ่งแวดล้อมต้อง Safety first และต้องคิดกรณี worse case ร่วมด้วย

ดังนั้น การ Monitor การตรวจวัดจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ ยกตัวอย่างพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงาน 161 แห่ง การคำนวณต่างๆ ระบุมีไอระเหยสารอินทรีย์ หรือ VOCs ออกมาน้อยมากไม่ต้องกังวล สร้างโรงงานเพิ่มได้ แต่จากการตรวจวัดมาเกือบ 10 ปี โดยกรมควบคุมมลพิษกลับพบว่าสารเบนซีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานรายปีทุกแห่งของจุดตรวจวัดที่ล้อมรอบนิคม โดยที่จุดตรวจวัดดังกล่าวไม่มีรถยนต์วิ่ง












กำลังโหลดความคิดเห็น