เชียงใหม่ - เครือข่ายภาคประชาชนเชียงใหม่ชูป้าย “ตัดแต่งกุดกุด หยุดได้แล้ว” แสดงจุดยืนกรณีต้นไม้เกาะกลางถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ถูกตัดกุดตลอดสายระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร ย้ำชัดทั้งไม่ถูกต้องตามหลักรุกขกรรมและไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่กำลังเกิดสถานการณ์วิกฤตฝุ่นควัน PM 2.5 แถมก่อปัญหาระยะยาว จี้หยุดการตัดแต่งแบบนี้บนถนนสายอื่นและพิจารณาทบทวนปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม พร้อมเสนอทุกฝ่ายร่วมจัดทำแผนแม่บทการจัดการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืน
วันนี้ (3 มี.ค. 66) รายงานจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายบริเวณถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี หรือถนนวงแหวนรอบ 2 เชียงใหม่ ช่วงผ่านตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีข้อความเช่น “ตัดแต่งกุดกุด หยุดได้แล้ว” หรือ “ตัดแต่งถูกวิธี มีหมอต้นไม้แนะนำ” เป็นต้น เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องพิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม กรณีที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 65 ทางหลวงชนบทเชียงใหม่ได้ดำเนินการตัดต้นไม้บนเกาะกลางถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ตลอดแนวถนนที่มีความยาวกว่า 20 กิโลเมตร โดยตัดกิ่งก้านใบออกหมดจนเหลือเพียงช่วงลำต้น แม้จะมีการแจ้งร้องผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และทางหลวงชนบทแล้วขอให้ยับยั้งการดำเนินการไว้ก่อนและทำอย่างถูกวิธีตามหลักรุกขกรรม อย่างไรก็ตามปรากฏว่าไม่เป็นผลแต่อย่างใด และยังคงมีการตัดต้นไม้เกาะกลางถนนอย่างต่อเนื่องจนเสร็จตลอดแนวถนนรวมหลายร้อยต้น ทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เชียงใหม่กำลังเผชิญสถานการณ์ปัญหามลพิษอากาศและฝุ่นควัน PM 2.5 ซึ่งสมควรเก็บรักษาต้นไม้เกาะกลางถนนดังกล่าวไว้เพื่อช่วยดูดซับฝุ่นควันมากกว่าที่จะตัดออก
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และนายกสมาคมยางนา-ขี้เหล็กสยาม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านรุกขกรรม หรือ “หมอต้นไม้” กล่าวว่า การดูแลและจัดการต้นไม้เกาะกลางถนนนั้น เบื้องต้นต้องดูที่วัตถุประสงค์ว่าปลูกเพื่อต้องการความเขียวขจี แต่วิธีการดูแลก็จะต้องแตกต่างจากการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ปกติทั่วไป โดยการดูแลรักษาและตัดแต่งจะต้องทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่กรณีนี้พบว่ามีการทิ้งช่วงไปนานและเป็นการตัดแต่งแบบตัดกุดทั้งหมด อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงรูปทรงลักษณะตามธรรมชาติของต้นไม้ที่ปลูกไว้ ซึ่งกรณีนี้เป็นต้นปีบ หรือ กาสะลอง ที่ปกติใบจะแน่นทึบอยู่แล้ว แต่การตัดด้วยวิธีการดังกล่าวทำให้ต้นยิ่งแตกกิ่งก้านสาขาออกไปเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นและใบยิ่งหนาทึบบดบังแสงและปะทะลมมากขึ้น อีกทั้งทำให้ต้นมีทรงตั้งเปราะบางกว่าเดิมด้วย ซึ่งการตัดแต่งแบบนี้ยิ่งกลายเป็นการเพิ่มปัญหามากขึ้นในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บรรจง กล่าวว่า การตัดแต่งต้นไม้เกาะกลางถนนดังกล่าวนี้ นอกจากไม่ได้คำนึงถึงรูปทรงลักษณะตามธรรมชาติของต้นไม้แล้ว ยังเป็นการดำเนินการในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ต้นปีบออกดอก ซึ่งควรจะปล่อยให้ออกดอกและทิ้งใบเสียก่อนจึงค่อยดำเนินการ รวมทั้งยังเป็นช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่กำลังเผชิญสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันและมลพิษอากาศ ซึ่งน่าจะชะลอการตัดแต่งไว้ก่อนเพื่อให้ต้นไม้ช่วยดูดซับฝุ่นละอองและกรองอากาศ ทั้งนี้เห็นว่ากรณีที่เกิดขึ้นยังสามารถแก้ไขได้เพื่อป้องกันปัญหาในระยะยาว ด้วยการตัดแต่งตามหลักรุกขกรรม ซึ่งเบื้องต้นที่สามารถทำได้เลยเป็นการตัดแต่งแก้ไขทรงต้นที่เสียหายให้กลับมามีทรงตามธรรมชาติและกิ่งก้านไม่เยอะเกินไปเหมือนปัจจุบันที่มีมากกว่า 10 กิ่ง โดยให้เหลือเพียง 3-4 กิ่งเท่านั้น ขณะที่การดูแลรักษาและตัดแต่งในระยะต่อไปใช้การตัดแต่งแบบค่อยๆ ลิดรอนกิ่งก้านใบลง เพื่อให้ใบสีเขียวและดอกยังออกได้ตามปกติ ไม่ใช่การตัดกุดแบบที่เป็นอยู่นี้ โดยการดำเนินการตามหลักรุกขกรรมนั้น เครือข่ายภาคประชาชนและวิชาการที่มีองค์ความรู้ พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับฟัง
ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีการตัดแต่งต้นไม้เกาะกลางถนนดังกล่าวนี้ ทางสภาลมหายใจเชียงใหม่ ได้มีการแสดงจุดยืนและทักท้วงไปตั้งแต่แรกแล้วว่าควรยับยั้งไว้ก่อนและดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งเชียงใหม่มีผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมร่วมมือสนับสนุนการทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เป็นแบบอย่างในการดูแลจัดการพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ แต่ปรากฏว่าการดำเนินการตัดแต่งต้นไม้เกาะกลางถนนดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นตลอดทั้งสายในแบบที่เป็นการตัดให้กุดและไม่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เกิดสถานการณ์ปัญหามลพิษอากาศด้วย ทั้งนี้กณีที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง และอยากเรียกร้องให้กรมทางหลวงชนบทรับฟังความเห็นของประชาชนมากกว่านี้ โดยย้ำว่าไม่ได้คัดค้านการตัดแต่งต้นไม้ แต่ขอให้ดำเนินการอย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักวิชาการและในช่วงเวลาที่เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ ยอมรับว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้มีความเป็นห่วงว่าจะมีการดำเนินตัดแต่งต้นไม้แบบเดียวกันนี้ในถนนเส้นทางอื่นๆ อีก ซึ่งเบื้องต้นอยากเรียกร้องให้หยุดและยับยั้งการตัดแบบนี้ไว้ก่อน แล้วปรึกษาหารือร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อกำหนดแนวทางในการตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องเหมาะสม โดยอาจจะทดลองกำหนดถนนสักเส้นทางหนึ่งเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการเพื่อประเมินวัดผล ซึ่งเตรียมทำหนังสือข้อเสนอแนะส่งตรงถึงกรมทางหลวงชนบทเพื่อพิจารณาต่อไป พร้อมกันนี้เห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานเกี่ยวข้องควรมีกระบวนการร่วมกันกำหนดแผนแม่บทในการจัดการพื้นที่สีเขียวของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนต่อไปด้วย