xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าเสนอแก้น้ำท่วม ทำสะพานยกระดับเชื่อมวารินชำราบ-เมืองอุบล 1,250 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - หอการค้า จ.อุบลฯ ร่วม กรอ.เสนอทำสะพานยกระดับถนนสถิตย์นิมานกาล และวงแหวนตะวันตก 231 เหมือนทางด่วนขนาด 2 ช่องจราจร มูลค่าราว 1,250 ล้านบาท ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมสองเมืองเศรษฐกิจ แก้ผลกระทบด้านเศรษฐกิจหากเกิดน้ำท่วม


อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดตั้งอยู่ปลายน้ำของ 2 ลำน้ำสำคัญในภาคอีสาน คือ แม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ไหลมาบรรจบกันที่อำเภอเมืองและวารินชำราบ ทำให้ฤดูน้ำหลากพื้นที่ของสองอำเภอต้องถูกน้ำท่วมไม่มากก็น้อย ตามปริมาณน้ำที่ไหลมาสมทบกัน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซากทุกปีในช่วงหน้าฝน ที่ผ่านมาทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปแต่ละปี

นายมงคล จุลทรรศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า หากย้อนหลังไปราว 40 ปีเศษ พื้นที่สองอำเภอดังกล่าวถูกน้ำท่วมหนักที่สุดในปี 2521 อีก 20 ปีต่อมาก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2545 แต่ช่วง 2-3 ปีให้หลังปรากฏว่าเกิดน้ำท่วมใหญ่ติดๆ กัน คือปี 2562 และปี 2565 ซึ่งมีระดับน้ำล้นตลิ่งสูงถึง 4.49 เมตรส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำใน 21 อำเภอ จาก 25 อำเภอ เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของจังหวัดคิดเป็นมูลค่า 6-7 พันล้านบาทในแต่ละครั้ง

เพราะเส้นทางใช้คมนาคมระหว่างสองเมืองเศรษฐกิจหลักถูกตัดขาด ไม่แต่คนที่อาศัยอยู่ทั้งสองเมืองที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เท่านั้น แต่ผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าออกจังหวัด หรือจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่มาติดต่อซื้อขายธุรกิจ ก็ทำไม่ได้ หลังน้ำท่วม รัฐยังต้องทุ่มงบประมาณมาชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจำนวนมหาศาลในแต่ละครั้ง


นายมงคลกล่าวต่อว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) พร้อมใจกันเสนอทางแก้ไขลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้อีก โดยให้กระทรวงคมนาคมจัดทำสะพานเป็นทางยกระดับเชื่อมระหว่างถนนอุปราช ฝั่งอำเภอเมือง กับถนนสถิตย์นิมานกาล ฝั่งอำเภอวารินชำราบ ช่วงตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำมูลเสรีประชาธิปไตย ขนาด 2 ช่องจราจร เป็นระยะทางยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 450 ล้านบาท

และทางยกระดับเป็นสะพานที่ถนนวงแหวนฝั่งตะวันตก 231 ขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทางตั้งแต่สะพานข้ามลำน้ำมูลน้อยถึงสะพานข้ามแม่น้ำมูลบ้านคูเดื่อ อ.เมือง 5.5 กิโลเมตร มูลค่า 800 ล้านบาท เพื่อใช้รับมือถ้าเกิดอุทกภัยใหญ่เกิดขึ้นอีก จนกระทั่งถนนด้านล่างไม่สามารถใช้สัญจรได้ รถก็สามารถใช้เส้นทางบนสะพานที่ยกระดับแทนได้ โดยไม่ต้องนั่งเรือ รถยกสูง หรือใช้เฮลิคอปเตอร์ในการส่งคนเจ็บคนป่วยที่จำเป็นต้องส่งเข้ารักษายังโรงพยาบาลประจำจังหวัดเหมือนเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2565

สำหรับในช่วงปกติ สะพานยกระดับที่ภาคเอกชนเสนอ ก็ช่วยเพิ่มผิวการจราจรจากปกติที่มีอยู่เดิมทางด้านล่างด้วย เพราะขณะนี้เมืองทั้งสองแห่งมีอันตราการขยายตัว จนทำให้การจราจรติดขัด เป็นการรองรับปริมาณการจราจรที่จะหนาแน่นเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย


การทำสะพานยกระดับทั้ง 2 แห่งนี้ใช้งบประมาณการก่อสร้างตามที่แขวงทางหลวงจังหวัดได้พิจารณาแล้วรวมกันไม่เกิน 1,300 ล้านบาท เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากใช้พื้นที่บริเวณเกาะกลางถนนของถนนทั้งสองแห่งสร้างเป็นตอม่อของสะพานยกระดับ ซึ่งมีความคุ้มค่ายิ่งกับการลงทุนทำสะพานทั้ง 2 แห่งขึ้นมา

“ดีกว่าที่ส่วนราชการจะต้องส่งกำลังทรัพยากรจากหลายส่วนเข้าช่วยขนส่งประชาชนทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ระหว่างเกิดน้ำท่วมใหญ่ เมื่อรวมความเสียหายของเศรษฐกิจจากน้ำท่วมแต่ละครั้ง จึงมากกว่าการใช้งบก่อสร้างสะพานเป็นถนนยกระดับทั้ง 2 เส้นทางหลายเท่าตัว” นายมงคลกล่าว และว่า

นอกจากนี้ ภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจเห็นด้วยที่มีการขยายเส้นทางวงแหวนฝั่งตะวันออกจากเดิมมี 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร เพราะช่วงน้ำท่วมปี 2565 กรมทางหลวงต้องพยายามปกป้องเส้นทางเดียวที่เหลืออยู่ไม่ให้ถูกน้ำท่วมจนปิดตาย แต่การเดินทางข้ามระหว่างสองอำเภอระยะทางไม่กี่กิโลเมตร แต่ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง ทำให้สูญเสียทั้งเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการเดินทาง


ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี ยังระบุต่อว่า สำหรับความคืบหน้าในการเสนอโครงการทำสะพานยกระดับใช้สัญจรทั้ง 2 เส้นทาง หอการค้าจังหวัดในฐานะหนึ่งใน  กรอ.ได้เสนอแผนการจัดทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบผ่าน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มาร่วมรับฟังปัญหาในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565

และได้นำเสนอต่อ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 ที่เดินทางมาดูความคืบหน้าโครงการเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งรับปากจะนำไปพิจารณาตามที่คณะ กรอ.เสนอมา


“ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึงนี้ หากพรรคการเมืองให้สัญญาจะผลักดันให้มีโครงการสร้างสะพานยกระดับเชื่อมระหว่างสองเมืองคู่แฝด เพื่อใช้แก้ปัญหาการเดินทางของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำมูล ทั้งในยามปกติและในยามที่เกิดอุทกภัยใหญ่ จะได้รับความสนับสนุนจากคนในพื้นที่ เพราะน้ำท่วมเมืองคือปัญหาของคนจังหวัดอุบลราชธานี ต้องอยู่กับปัญหาไปอีกนาน และจะเกิดถี่ยิ่งขึ้น หากไม่มีแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม” ประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น