อุบลราชธานี - ชาวบ้านคลองผันน้ำยักษ์แก้น้ำท่วมอีสานใต้ของกรมชลประทานเป็นห่วงไม่มีส่วนร่วม เพราะยังไม่มีการมาสอบถามความเห็น หรือการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนที่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินถาวรกว่า 300 ครอบครัว เรียกร้องให้ลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนก่อนทำโครงการ
ที่อาคารปฏิบัติการทางสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดเสวนามองหลากมุมกับโครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี โดยตัวแทนของสำนักงานชลประทานที่ 7 เครือข่ายประชาสังคมคนลุ่มน้ำ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองที่จะทำขึ้น
ในเวทีเสวนาได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ปี 2562 และปี 2565 โดยนายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี ระบุว่าเกิดจากมีฝนตกลงมาชุก และการไหลมารวมกันของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีที่ไหลผ่านตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานีและอำเภอวารินชำราบ ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในจุดที่เป็นปลายน้ำที่จะไหลออกไปลงแม่น้ำโขง
โดยกลางเดือนตุลาคม 2565 ที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย มีน้ำขึ้นสูงสุดถึง 5,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เกินปริมาณลำน้ำของแม่น้ำมูลตรงจุดนี้ที่รับน้ำได้เพียง 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้น
วิธีแก้ปัญหา กรมชลประทานจึงจะทำคลองผันน้ำแม่น้ำมูล โดยตัดน้ำจากเขื่อนหัวนาเลี่ยงไปทางทิศตะวันออกไปลงแม่น้ำมูลบริเวณห้วยตุงลุง อ.โขงเจียม ส่วน สทนช.กำลังศึกษาทำคลองผันน้ำ โดยตัดน้ำจากแม่น้ำชีที่เขื่อนยโสธรไปลุ่มน้ำเซบาย เซบก และไปลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม
ซึ่งตัวแทนผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นว่าโครงการคลองผันน้ำของกรมชลประทานยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่แนวคลองผันน้ำผ่าน ไม่มีผลการศึกษา EIA มีจำนวนที่ดินทำกินของประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 8,000 ไร่ และประชาชนมากกว่า 400 ครัวเรือนจะได้รับผลกระทบสูญเสียที่ทำกินไปอย่างถาวร ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนในพื้นที่โครงการหลายแห่งยังไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวข้องกับโครงการที่ชัดเจน
ผศ.ดร.ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับลุ่มน้ำในภาคอีสานกล่าวถึงเรื่องนี้แสดงความเห็นว่า โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้ง 2 โครงการเป็นโครงการที่ดี แต่การทำคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ต้องสอบถามเรื่องผลกระทบที่คลองผ่าน เพราะหากไม่มีการสอบถามแล้วเกิดผลกระทบขึ้น อาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลมาแก้ปัญหา การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบจึงเป็นเรื่องสำคัญ และทุกวันนี้ต้องไม่คิดจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว แต่ต้องแก้เรื่องทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งไปด้วยกันเลย
ขณะที่นายสุเวช จันทร์จิตร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใต้ อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งโครงการคลองผันน้ำต้องผ่านพื้นที่ทำให้มีหมู่บ้านได้รับผลกระทบรวม 7 หมู่บ้าน และ 2 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 300 ครอบครัว ต้องสูญเสียที่ทำกินถาวรกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จนถึงขณะนี้ผู้ทำโครงการไม่เคยไปชี้แจงต่อชาวบ้านในพื้นที่ เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นที่จะมีพื้นที่ทำกินอย่างไร และการเยียวยาจะได้รับสมกับที่สูญเสียไปหรือไม่
“สำหรับโครงการนี้ไม่มั่นใจจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากของตำบลไร่ใต้ได้หรือเปล่า ตรงข้าม กลับวิตกกังวลจะกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอีกด้วย” นายสุเวชกล่าว
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคอีสาน กลับมีความเห็นว่า เรื่องการทำโครงการผันน้ำที่ต้องใช้งบประมาณมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ไม่มีความจำเป็น แต่ควรไปสนใจเรื่องการบริหารจัดการน้ำ โดยการพร่องน้ำออกจากลุ่มน้ำในฤดูน้ำหลาก ก่อนที่น้ำจะไหลมารวมกัน
เพราะลุ่มน้ำอีสานตอนล่างมีเขื่อนเก็บน้ำทั้งน้ำชีและแม่น้ำมูล ดังนั้นก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ก็ให้ชลประทานพร่องน้ำออกจากลำน้ำไปก่อน เมื่อมีน้ำใหม่หลากมาก็มีพื้นที่ไว้รองรับน้ำเพิ่มขึ้นอีก เป็นหลักการง่ายๆ ในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดน้ำท่วมใหญ่
การระดมความเห็นจากเวทีเสวนานี้ ภาคประชาสังคมจะได้นำเสนอเป็นข้อมูลให้ส่วนราชการที่กำลังจัดทำโครงการคลองผันน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่อีสานใต้ใช้เป็นข้อมูลในการลงมารับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อไปด้วย