xs
xsm
sm
md
lg

ครั้งแรกของไทย! นักวิจัย 3 มหาวิทยาลัยดังเปิดตัวโปรแกรม AI แปลผลอายุร่างกายจากผลการตรวจเลือด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย 3 มหาวิทยาลัยชื่อดังเปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แปลผลอายุร่างกาย และอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อน จากผลตรวจเลือดสำเร็จเป็นครั้งแรกของไทย เผยเป็นเทรนด์ใหม่ด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ AI เป็นส่วนช่วยประเมินสุขภาพเพื่อจะได้เฝ้าระวังพฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิต


ที่อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิด แถลงข่าวความสำเร็จและการเปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์แปลผลอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ ตับ ไต หัวใจ ตับอ่อนจากผลตรวจเลือด ซึ่งสะท้อนภาวะร่างกายแบบเข้าใจง่ายรองรับการใช้งานในกลุ่มสถานบริการสุขภาพ/บริษัท health technology รวมถึงการใช้งานรายบุคคลในรูปแบบแอปพลิเคชันและเว็บไซต์

โดยมี ผศ.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ พร้อมด้วย ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), ศ.พัชรี เจียรนัยกูร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนทีมนักวิจัยเข้าร่วมงาน

ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ หรือ Al for healthcare มีทีมนักวิจัยมาจากหลากหลายคณะทำงานร่วมกัน โดยใช้ข้อมูลสุขภาพที่มีอยู่ ซึ่งครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเขตสุขภาพ 7, 8, 9 และ 10 โดยใช้แหล่งข้อมูลสุขภาพดี 59,675 ชุด และฐานข้อมูลจากผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพเชิงลึก


จนกระทั่งนำมาสู่การใช้ได้จริงในการประเมินอายุร่างกายและอวัยวะสำคัญ 4 อวัยวะ ได้แก่ ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ มีความแม่นยำในการประเมินเมื่อเทียบกับวิธีมาตรฐาน ร้อยละ 83.7 ในเพศหญิง และ 81.5 ในเพศชาย ตัวโปรแกรมนี้เป็นตัวช่วยให้บุคคลระมัดระวังเรื่องการพักผ่อน พฤติกรรมและการบริโภค โดยหวังว่าโปรแกรมนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนโดยรวมของประเทศได้


ด้าน ผศ.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศค้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence on Medical Biotechnology : CEMB) ที่มีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแกนนำ กล่าวเสริมว่า นวัตกรรมนี้ได้สนับสนุนทุนวิจัยปีงบประมาณ 2561-2564 แก่คณะวิจัยในรูปแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มวิจัยที่มี ศาสตราจารย์ พัชรี เจียรนัยกูร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าคลัสเตอร์ โดยมีทีมวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ในหลายคณะ ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ สาธารณสุขศาสตร์ แพทยศาสตร์ศิริราช วิทยาศาสตร์และวิทยาลัยคอมพิวเตอร์นวัตกรรม Health AI ที่จะมาช่วยประชาชนทั่วไปได้เข้าใจผลการตรวจสุขภาพของตนโดยง่ายผ่านแอปพลิเคชันมือถือ


โดยช่วยส่งเสริมให้เข้าใจสภาวะสุขภาพของตนเอง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีสุขภาพกายที่ดีต่อไป ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ด้านนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ AI เป็นส่วนช่วยในบริการด้านนี้ เมื่อมีการใช้งานจากทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวางแล้ว

ซึ่งท้ายที่สุดประโยชน์จะตกอยู่กับประชาชนและระบบสาธารณสุขของประเทศที่เน้นสาธารณสุขเชิงป้องกัน ที่จะช่วยลดภาระงบประมาณด้านนี้ของประเทศและรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ”

ขณะที่ ศ.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มสุขภาพและการแพทย์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวว่า “Health AI เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ยกระดับเป็นนวัตกรรมสู่การเปิดบริการเชิงพาณิชย์ภายใต้การดำเนินงานของเครือข่ายศูนย์ชุดตรวจวินิจฉัยโรค โดย บพข.ให้การสนับสนุนงานประมาณดำเนินงานของศูนย์พัฒนานวัตกรรมและมาตรฐานทางเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด


กำลังโหลดความคิดเห็น