xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เปิด 17 กลุ่มอุตสาหกรรมปี 66 แนวโน้มยังเติบโตต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.อ.ท.” ประเมินแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยปี 66 เมื่อเทียบกับปีก่อนยังคงเติบโตท่ามกลางความเสี่ยงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก พบ 17 กลุ่มอุตสาหกรรมยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ 21 อุตสาหกรรมทรงตัว และ 7 อุตสาหกรรมแนวโน้มชะลอตัว

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เ
ปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้สำรวจแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ปี 2566 เทียบกับปี 2565 โดยคาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องของ 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, อาหารและเครื่องดื่ม

“ปัจจัยสนับสนุนสำหรับ 17 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ มาจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนเปิดประเทศที่จะเป็นแรงหนุนให้ความต้องการสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีและมีการเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งภาพรวมแม้ว่าส่งออกไทยอาจจะชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยแต่การใช้ประโยชน์จากกรอบข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ทำให้มีการเปิดตลาดใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย” นายมนตรีกล่าว

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะทรงตัวมีทั้งหมด 21 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรม
ก๊าซ, แก้วและกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น, เครื่องสำอาง,
เซรามิก, ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, เทคโนโลยีชีวภาพ, น้ำมันปาล์ม, ปูนซีเมนต์, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, พลาสติก, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, ไม้อัดไม้บางและวัสดุแผ่น, ยาง, เยื่อและกระดาษ, รองเท้า, สิ่งทอ, หัตถกรรมสร้างสรรค์, อะลูมิเนียม, และอัญมณีและเครื่องประดับ โดยปัจจัยสนับสนุน
หลักมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า, และการส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งจะกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 13% จากงวดก่อน การขาดแคลนแรงงาน รวมถึงโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรการกีดกันการค้าจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัว 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, ปิโตรเคมี, สมุนไพร, เคมี, เครื่องนุ่งห่ม, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, หนังและผลิตภัณฑ์หนัง ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรม 5 ภูมิภาค พบว่าภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกยังมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทรงตัว และภาคใต้ชะลอตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น